Phones





SCB มองการใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงส่งสำคัญต่อศก.ปี65

2021-12-10 16:18:22 753



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - SCB ปรับลดจีดีพีของไทยในปี 65 เหลือโต 3.2% จากเดิม 3.4% รับแรงกดดันจาก “โอไมครอน” ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นภาคท่องเที่ยว ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ด้านภาคส่งออกปี 65 คาดเติบโตต่อเนื่องที่ 3.4%
 
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ EIC SCB เปิดเผยว่า ได้ปรับลดประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ปี 65 ลงมาอยู่ที่ 3.2% จากเดิมที่คาดเติบโต 3.4% ตามผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์ “โอไมครอน” ต่อภาคการท่องเที่ยว และ ความเชื่อมั่นในช่วงต้นปี 65 โดยในภาพรวมของการท่องเที่ยวที่ยังถือเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่ยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดโควิด โดยในกรณีฐาน EIC คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยในปี 65 อยู่ที่ 5.9 ล้านคน บนพื้นฐานที่คาดว่า ผลกระทบของโอไมครอนจะจำกัดอยู่ในช่วงไตรมาส 1/65
 
ขณะที่ในกรณีเลวร้าย (worse case) EIC ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจลดลงไปอยู่ที่ 2.6 ล้านคน ตามการจำกัดการเดินทางของประเทศต้นทางนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจีนที่อาจยืดเวลาการเปิดประเทศออกไปเป็นในปี 66 ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมาก จะยังต้องใช้เวลาการฟื้นตัวไปถึงกลางปี 66
 
สำหรับการส่งออกสินค้าของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.4% ตามการเติบโตของเศรษฐกิจ และ การค้าโลก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นจากปี 64 ส่วนการใช้จ่ายในประเทศในปี 65 มีแนวโน้มฟื้นตัวเช่นกันจากอานิสงส์ของการกระจายวัคซีนในประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจจะกลับมาดำเนินการได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในระยะสั้นที่จะมีแรงส่งจากการใช้จ่ายที่มาจาก pent-up demand ของกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ
 
นอกจากนี้ ยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่คาดว่า จะยังมีต่อเนื่อง แต่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโอไมครอนอาจทำให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการใช้จ่ายลงจากความกังวลที่เพิ่มสูงขึ้น และ อาจมีมาตรการจำกัดการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในบางจุด ซึ่งจะกระทบกับการใช้จ่ายโดยตรง
 
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศในภาพรวมจะเป็นไปอย่างช้า ๆ จากแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่จะยังมีผลต่อเนื่องไปในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะภาวะตลาดแรงงานที่ซบเซา ซึ่งล่าสุดอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 3/64 อยู่ที่ 2.3% ถือเป็นจุดสูงสุดใหม่สำหรับอัตราการว่างงานในช่วงโควิด และ เป็นอัตราการว่างงานที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 50 และ จำนวนคนทำงานต่ำระดับ และ คนเสมือนว่างงานได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก
 
ทั้งนี้ EIC คาดว่าตลาดแรงงานไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆจาก อุปทานส่วนเกินในตลาดแรงงาน (slack) จากคนว่างงาน และ คนทำงานต่ำระดับที่มีจำนวนมาก กำลังในการจ้างงานของภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่ถดถอยลง และปัญหาทักษะไม่สอดคล้องกับความต้องการ (skill mismatch) จากประเภทงาน และ ทักษะแรงงานที่ต้องการที่เปลี่ยนไปในช่วงโควิด โดยแนวโน้มตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ จะส่งผลต่อความสามารถของภาคครัวเรือนในการหารายได้ และการบริหารจัดการหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งคาดว่าน่าจะยังเป็นหนึ่งในแรงกดดันต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนไทยต่อเนื่องในระยะปานกลาง
 
ทั้งนี้ แรงส่งสำคัญต่อเศรษฐกิจในปี 65 ส่วนหนึ่งมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนหน้าตามการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของภาครัฐภายใต้กรอบงบประมาณที่ลดลง รวมถึงเม็ดเงินที่จะเหลือเพียงราว 2.6 แสนล้านบาทจากพรก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท แต่ด้วยความจำเป็นในการเยียวยาแผลเป็นทางเศรษฐกิจ และ รองรับความเสี่ยงด้านต่ำที่มีสูงขึ้นภาครัฐจึงควรพิจารณากู้เงินเพิ่มเติม ซึ่งภาครัฐควรเน้นการจัดสรรเม็ดเงินเพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และ การลงทุนเพื่อการเติบโตในอนาคต
 
โดยเฉพาะมาตรการเพิ่มทักษะแรงงาน (Upskill/Reskill) มาตรการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของธุรกิจ SME และ การลงทุนเพื่ออุตสาหกรรมใหม่ ๆ เพื่อรองรับกับโครงสร้างเศรษฐกิจ และ ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกภายหลังโควิดภายใต้กรอบวินัยทางการคลังใหม่ที่กำหนดเพดานหนี้ที่ 70% ของจีดีพี โดยระดับหนี้สาธารณะปัจจุบันยังอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะสามารถบริหารจัดการได้ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ และ สภาพคล่องในประเทศอยู่ในระดับสูง ซึ่งภาครัฐต้องสื่อสารถึงแผนการลดระดับหนี้ในระยะปานกลางที่น่าเชื่อถือเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพการคลัง
 
ส่วนนโยบายการเงิน EIC คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 65 และ เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการทางการเงินเพื่อกระจายสภาพคล่อง และ ปรับโครงสร้างหนี้ให้ทั่วถึงขึ้น แม้ว่าธนาคารกลางในต่างประเทศจะมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลปัญหาเงินเฟ้อ แต่ EIC ประเมินว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะไม่กดดันให้ กนง.ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม เนื่องจากเศรษฐกิจยังต้องการแรงสนับสนุน