Phones





“สมาคมธนาคารไทย” พัฒนาเทคโนโลยีช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ

2021-12-15 19:40:28 1106



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – สมาคมธนาคาร ร่วมกับธปท. และเครือข่ายภาคประชาชน เดินหน้าโครงการ” Digital Supplychain Finance” หวังช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างยั่งยืน
 
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภาครัฐให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการเสริมศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งกระทรวงการคลังยังได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินมาตรการของรัฐบาล 
 
ดังนั้นโครงการ Digital Supplychain Finance ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการยกระดับธุรกิจ SMEs เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่พยายามผลักดันให้ธุรกิจรายย่อยมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรมอย่างยั่งยืน ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานในระบบการเงินที่สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอีกทางหนึ่ง
 
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในยุคที่โลกเศรษฐกิจและการเงินต้องเผชิญกับกระแสดิจิทัล ธนาคารแห่งประเทศไทยเร่งส่งเสริมและผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาประสิทธิภาพระบบการชำระเงินและบริการทางการเงิน ให้ตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วน ตัวอย่างที่สำคัญ คือ การพัฒนาระบบพร้อมเพย์ ที่ทำให้การโอนเงินและชำระเงินของคนไทยเป็นเรื่องง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีต้นทุนที่ถูกลง ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการชำระเงินของคนไทย สะท้อนจากการเติบโตที่รวดเร็วของการชำระเงินดิจิทัล
 
ทั้งนี้ โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business จะเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ ภาคธนาคาร และภาคธุรกิจ ร่วมกันพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลการค้า การชำระเงินของภาคธุรกิจ ข้อมูลผู้ให้บริการทางการเงินและระบบภาษีของภาครัฐเข้าด้วยกันผ่านกระบวนการดิจิทัล
 
สำหรับโครงการดังกล่าวประกอบด้วยบริการหลัก 2 ด้าน ด้านแรก คือ บริการด้านการค้าและการชำระเงิน ที่จะเชื่อมข้อมูลข้างต้นอย่างครบวงจร ด้านที่สอง คือ บริการด้านสินเชื่อ หรือ Digital Supplychain Finance เป็นการนำข้อมูลจากบริการด้านการค้าและการชำระเงินมาใช้ประโยชน์ในการให้สินเชื่อเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิ-19 ได้อย่างทันการณ์และพร้อมปรับตัวสู่โลกใหม่
 
ด้านนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและซ้ำเติมข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบเดิมๆ ของผู้ประกอบการ SMEs สมาคมธนาคารไทยจึงได้หารือกับธปท. สภาหอการค้า ส.อ.ท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น ผ่านโครงการ Digital Supply Chain Finance ภายใต้แผนงาน Smart Financial and Payment Infrastructure for Business ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับธุรกรรมการซื้อ-ขายในรูปแบบดิจิทัล ทดแทนการออกและรับเอกสารทางการค้าในรูปแบบกระดาษ ที่มีความไม่คล่องตัว มีข้อกังวลเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร และการใช้เอกสารเวียนขอสินเชื่อซ้ำซ้อน (Double Financing) ทำให้ยากต่อการพิจารณาสินเชื่อ
 
โดยแพลตฟอร์มนี้จะเป็นตัวกลางช่วยลดช่องว่างระหว่างกลุ่มธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อ ซึ่งมีสภาพคล่องและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่า ให้มีโอกาสช่วยเหลือซัพพลายเออร์ของตน เพราะขั้นตอนการขายสินค้าหรือบริการของ SMEs หลังจากออกใบแจ้งหนี้ (Invoice) ต้องรอรับการชำระเงินตามเครดิตเทอม อาจมีผลต่อสภาพคล่อง
 
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ขาย (SMEs) เพื่อให้ได้รับเงินค่าขายสินค้าทันทีเมื่อการส่งสินค้าเสร็จสิ้น หรือเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ซื้อเพื่อชำระเงินให้คู่ค้าได้เร็วขึ้น โดยในอนาคตข้อมูลพฤติกรรมผู้ขายและผู้ซื้อภายใต้โครงการ Digital Supplychain Finance รวมถึงข้อมูลทางเลือกอื่นๆ เช่น ประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายรายเดือนโทรศัพท์มือถือ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น จะถูกจัดส่งให้บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) และด้วยเทคโนโลยี AI และ Data Analytics ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) จะสามารถพัฒนาขีดความสามารถทางด้าน Alternative Credit Scoring สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของสมาคมธนาคารไทย
 
โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงิน และจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ให้กลับมามีศักยภาพในการแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน และแสดงถึงเจตนารมณ์ของภาคธนาคารในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ และโปร่งใส