Phones





CIMBT เดินหน้ากลยุทธ์คุมค่าใช้จ่ายหนุนกำไรปี 64 โต 89.1%

2022-01-21 14:53:45 354



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – CIMBT รายงานผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารในปี 64 มีกำไรสุทธิจำนวน 2,440.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89.1% โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 8.1% และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 25.7%
 
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารในปี 64 มีกำไรสุทธิจำนวน 2,440.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,150 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 89.1% เมื่อเทียบกับปี 63 สาเหตุหลักเกิดจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 8.1% และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 25.7%
 
สำหรับรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 14,347.4 ล้านบาท ลดลงจำนวน 579.7 ล้านบาท หรือลดลง 3.9% เมื่อเทียบกับปี 63 เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 988.5 ล้านบาท หรือ 9.0% เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่าซื้ออันเนื่องมาจากการขยายตัวของสินเชื่อลดลงสุทธิกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 337.6 ล้านบาท หรือ 26.9% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าขายประกันและหน่วยลงทุน รายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้นจำนวน 71.2 ล้านบาท หรือ 2.6% สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน
 
ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) ปี 64 อยู่ที่ 3.1% ลดลงจากปี 63 ซึ่งอยู่ที่ 3.2% เป็นผลจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่าซื้อ
 
ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธ.ค.64 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชีของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 2.11 แสนล้านบาท ลดลง 6.6% เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค.63 กลุ่มธนาคารมีเงินฝากจำนวน 2.33 แสนล้านบาท ลดลง 7.1% จากสิ้นปี 63 ซึ่งมีจำนวน 2.50 แสนล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 90.9% จาก 90.5% ณ วันที่ 31 ธ.ค.63
 
สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 7.9 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 3.7% ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธ.ค.63 อยู่ที่ 4.6% สาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 64 การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการบริหารคุณภาพสินทรัพย์และกระบวนการในการเก็บหนี้
 
อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธ.ค.64 อยู่ที่ 117.5% เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธ.ค.63 ซึ่งอยู่ที่ 93.3% ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 8.3 พันล้านบาท เป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จำนวน 1.5 พันล้านบาท
 
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 ธ.ค.64 มีจำนวน 5.44 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 22.4% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ระดับ 16.3%