Phones





GULF–PTT เซ็นกนอ.ลงทุนมาบตาพุดเฟส3

2019-10-01 17:00:49 253




นิวส์ คอนเน็คท์ - GULF – PTTลงนามกับ กนอ.ลงทุนท่าเรือมาบตาพุดเฟส3 ใช้งบ 47,900 ล้านบาท เปิดให้บริการปี 68 พร้อมขยายคลัง LNG เป็น 10.8 ล้านตัน รองรับฮับ LNG - ปิโตรเคมี "สารัชต์" กางแผนธุรกิจไฟฟ้า เล็งกู้เงิน 4 หมื่นล้านบาท ลงทุน IPP 2,500 เมกะวัตต์ ชี้ปีหน้าสรุปการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่โอมาน 500-1,000 เมกะวัตต์ พร้อม COD ปีหน้า 140 เมกะวัตต์


เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมในพิธีลงนามเซ็นสัญญาร่วมลงทุนแบบ PPP NET Cost ระหว่าง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับบริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ที่เป็นร่วมลงทุนกันระหว่าง บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด เป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ในการลงทุนพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3


โดยนายสมคิด เปิดเผยว่า โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส3 เป็นโครงลงทุนขนาดใหญ่โครงการแรกที่ได้เริ่มลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะเป็นการดึงดูดการลงทุนในพื้นที่ และเป็นการยกระดับฮับปิโตรเคมี และ LNG


อย่างไรก็ตาม การลงทุนในพื้นที้ EEC นั้นคาดว่าจะมีการลงนามเซ็นสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 อีก 1โครงการ ส่วนอีก 3 โครงการใหญ่อย่างพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการศูนย์ซ่อมอสากาศยาน โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีโอกาสลงนามในสัญญาได้ภายในปีนี้เช่นกัน


ด้านนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF กล่วาว่า โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส3 ในช่วงที่ 1 ราว 47,900 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนสำหรับถมทะเล 12,000 ล้านบาท และลงทุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือ คลัง LNG ราว 35,900 ล้านบาท โดยคลัง LNG ในระยะแรกจะลงทุนขนาด 5 ล้านตัน


อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดใช้บริการในปี 68 พร้อมพิจารณาขยายลงทุนคลัง LNG เพิ่มอีก 5.8 ล้านตันเป็น 10.8 ล้านตัน แต่ต้องดูความต้องการใช้ในช่วงนั้นก่อนถึจะขยาย ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส3 นั้นไม่มีความกังวลเนื่องจากเป็นเรื่องปกติของขบวนการประมูลที่อาจจะต้องมีการฟ้องร้องซึ่งก็ให้เป็นไปตามขบวนการของศาล


นายสารัชถ์กล่าวถึงธุรกิจโรงไฟฟ้า ว่า สิ้นปี 62 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 12,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นสัดส่วนการถือหุ้นของ GULF 6,500-6,700 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังการผลิตที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) รวม 5,900 เมกะวัตต์ แบ่งตามสัดส่วนการถือหุ้นของ GULF จำนวน 2,670 เมกะวัตต์


อย่างไรก็ตาม ในปี 63 คาดว่าจะ COD เข้ามาเพิ่มอีกราว 140 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโครงการพลังงานลมที่ประเทศเวียดนามขนาดกำลังการผลิตรวม310 เมกะวัตต์จะทยอย COD ปี 63 จำนวน 30-80 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์มเวียดนาม 30 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติขนาดกำลังการผลิต 326 เมกะวัตต์ ทยอย COD ปี 63 ราว 40 เมกะวัตต์ คาดว่า COD ครบในปี 2565


นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในประเทศโอมานขนาดกำลังการผลิตประมาณ 500-1,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 63 ส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่เวียดนามขนาดกำลังผลิต 6,000 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศลาว 3 โครงการรวมกำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีถึงจะได้ข้อสรุปการลงทุน


ส่วนการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ (IPP) ขนาดกำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอยู่ 2,500 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้า 30% ทยอย COD ในปี 64-65 ส่วนอีก 2,500 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างขอกู้เงินวงเงิน 40,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มกู้เงินได้ในเดือน พ.ย. 62 แล้วดำเนินการก่อสร้างในต้นปี 63 พร้อมทยอย COD ในปี 64-67