Phones





PTTคาดผลงานครึ่งหลังปี62ฟื้นตัว

2019-10-03 18:31:54 221




นิวส์ คอนเน็คท์ - PTTคาดผลประกอบการครึ่งหลังปี 62 ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง ยันปี 63 พร้อมเร่งการรื้อย้าย ท่อก๊าซธรรมชาติ ท่อน้ำมันในเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูง


เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยที่กระทรวงพลังงานว่า ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 คาดว่าจะดีขึ้นกว่าครึ่งแรก2562 เนื่องจากมาร์จิ้นธุรกิจกลุ่มโรงกลั่นเริ่มปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากช่วงไตรมาส 4 นั้นเป็นช่วงฤดูหนาวหรือไฮซีซั่นของการใช้น้ำมัน โดยมีการสตอกน้ำมันเพื่อใช้วันหยุดยาวประจำปีใหม่เทศกาลท่องเที่ยว ส่วนราคาปิโตรเคมีเริ่มทรงตัว


ขณะเดียวกัน ในช่วงครึ่งปีหลังนี้บริษัทกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมีทั้ง 3 บริษัทในเครื่อ PTT ทั้งบริษัท พีทีทีโกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP นั้นไม่มีแผนหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ประจำปีจึงเป็นปัจจัยหนุนต่อบริษัทในช่วงครึ่งปีหลังนึ้


จากแนวโน้มผลประกอบการที่เติบโตดีขึ้นคณะกรรมการ ปตท. จึงเห็นชอบให้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี2562 ในอัตรา 0.90 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 25,707 ล้านบาท


ส่วนผลการดำเนินงานของ PTT ในปี 2562 คาดว่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย แต่ยังต่ำกว่าปี 2561 ที่มีกำไรอยู่ที่กว่า 1.2 แสนล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่กระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและกระทบต่อกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี โดยทำให้มาร์จิ้นปิโตรเคมีลดต่ำลงในช่วงครึ่งปีแรก 2562 ขณะที่แนวโน้มการดำเนินการปี 2563 คาดว่าจะดีขึ้นจากปี 2562 เนื่องจากผลประกอบการในธุริจขั้นปลายจะดีกว่าปีนี้ โดยเฉพาะธุรกิจกลุ่มน้ำมันจะกลับมาอยู่ในระดับเป็นระดับปกติ


นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 โดยกำหนดกำมะถันในน้ำมันเตาของเรือเดินสมุทรไม่เกินร้อยละ 0.5 ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ค่าการกลั่นปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น พร้อมกันนี้บริษัทยังเชื่อมั่นว่าความต้องการใช้น้ำมันและปิโตรเคมีในแถบอาเซียนจะยังเติบโต จึงคาดจะส่งผลดีต่อมาร์จินของปิโตรดคมีและน้ำมันจะขยับดีขึ้น


ส่วนการรื้อย้ายท่อก๊าซธรรมชาติ ท่อน้ำมันในเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ในขณะนี้ คงต้องรอภาครัฐว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร โดยตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ EEC ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับในการย้ายรื้อถอนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นคาดว่าจะเป็นหน้าที่ของเอกชนผู้ดำเนินธุรกิจตามสัญญาที่ตกลงกันไว้