Phones





RATCHเปิดเจรจาซื้อก๊าซฯรองรับIPPตะวันตก

2019-10-07 17:25:12 270




นิวส์ คอนเน็คท์ – RATCH จ่อสรุปพันธมิตรลงทุนโรงไฟฟ้า IPP ภาคตะวันออก 1,400 เมกะวัตต์ภายในปีนี้ ส่วนก๊าซที่ใช้ในโรงไฟฟ้า ไม่ได้เจรจาปตท.รายเดียว ยังมีเวลาหาผู้ประกอบการที่ให้ราคาดี พร้อมมั่นใจปีนี้ซื้อโรงไฟฟ้าเพิ่มอย่างน้อยอีก 1 โครงการ


เมื่อเร็วๆ นี้ นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยภายในงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพลังงานครบรอบ 17 ปี ที่กระทรวงพลังงาน ว่า โครงการโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงภาคตะวันตก จำนวน 2 โรง ขนาดกำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2567-2568 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการด้านจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งในส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและท่อส่งก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะได้รับใบอยุญาต EIA ภายในปี 63 และคาดว่าจะได้ข้อสรุปพันธมิตรร่วมลงทุนภายในปีนี้อย่างแน่นอน

ส่วนการจัดซื้อก๊าซ LNG รองรับการผลิตไฟฟ้าในโครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ไม่ได้เจรจากับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT รายเดียว โดยปัจจุบันมีการเจรจาหลายรายที่มีโอกาสนำเข้าก๊าซ LNG ตามนโยบายการเปิดเสรีของกระทรวงพลังงาน ดังนั้น ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรถึงจะได้ข้อสรุปในเรื่องนี้

ขณะที่แผนการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าทั้งพลังงานทดแทน และเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยในต่างประเทศอยู่ระหว่างศึกษาอยู่หลายประเทศในเอเชีย ซึ่งยังคงดำเนินการตามแผนอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นซื้อกิจการที่เป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่ได้รับใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แต่ยังไม่ได้ก่อสร้าง และโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างหรือโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วเพื่อให้สามารถรับรู้เป็นรายได้เข้ามาทันที คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถซื้อกิจการได้อย่างน้อยอีก 1 โครงการ


ส่วนกรณีที่บริษัท ไทยลาวลิกไนท์ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีแพ่งโดยกล่าวอ้างว่าบริษัทราชกรุ๊ปละเมิดความลับทางการค้าของโจทก์ในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา ที่สปป.ลาว เป็นเงินวงเงิน 6,457,097,500 บาทนั้น บริษัทจะยื่นข้อมูลหลักฐานต่อศาลในต้นเดือนตุลาคมนี้ และในเดือนถัดไปศาลจะเรียกโจทย์เพื่อสอบคดี ซึ่งบริษัทไม่ได้กระทำการตามที่โจทย์กล่าวอ้างคำฟ้อง ดังนั้นจึงไม่ได้มีการตั้งสำรองเงินหรือบันทึกประมาการหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ในบัญชีของบริษัทแต่อย่างใด


สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ในประเทศลาว กำลังผลิต 410 เมกะวัตต์ มั่นใจว่า จะสามารถ COD ได้ภายในสิ้นปีนี้ จากกำหนดการเดิมในเดือนก.พ. 2562 หลังเกิดเหตุการณ์เขื่อนดินกั้นช่องเขาส่วน D (saddle Dam D) แตก เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2561 ที่ผ่านมา เป็นสาเหตุทำให้เกิดความล่าช้า โดยโครงการนี้มีสัญญาซื้ขายไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปริมาณ 350 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้บริษัทเริ่มทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/62 เป็นต้นไป