Phones





GGCย้ำผลิตB100มาตรฐาน JAMA-รับอานิสงส์B10

2019-10-24 15:47:16 230




 


นิวส์ คอเน็คท์ - GGC ผลิต B100 มาตรฐาน JAMA รองรับการบังคับใช้ B10 ชี้มีมาร์เก็ตแชร์ 27% เป็นอันดับ 1 ของตลาด


 


เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 แหล่งข่าวจากบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ผู้นำผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า โรงงานผลิตเมทิล เอสเทอร์แห่งแรก (ไบโอดีเซล B100) ของบริษัท ผลิตได้ตามมาตรฐานของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น หรือ JAMA ที่ให้การยอมรับมาตรฐานน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ คือ มีปริมาณโมโนกลีเซอร์ไรด์ไม่เกิน 0.4% ขณะโรงงานแห่งที่ 2 ได้ตามมาตรฐานยุโรป ปริมาณโมโนกลีเซอร์ไรด์ไม่เกิน  0.25% ซึ่งโรงงานแห่งที่2 นั้นเป็นมาตรฐานที่ดีกว่ามาตรฐานญี่ปุ่น โดยกำลังผลิตของ GGC ส่วนใหญ่จำหน่ายให้ กลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT


 


ทั้งนี้ ตลาดรวมของการผลิตและจำหน่ายน้ำมัน B100 ในประเทศไทยนั้น GGC มีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ประมาณ 27% เป็นอันดับ 1 ของตลาด แต่กำลังการผลิตในตลาดในปัจจุบันที่ได้มาตรฐาน JAMA นั้นมีเพียง 50% ของกำลังการผลิตน้ำมัน B100 รวมทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งหากผู้ประกอบการผลิตน้ำมัน B100 รายย่อยยังไม่ปรับปรุงโรงกลั่นเพื่อผลิตน้ำมัน B100 ให้ได้มาตรฐาน JAMA จะทำให้กำลังการผลิตที่ได้ตามมาตรฐานไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด


 


อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผู้ประกอบการรายย่อยส่วนใหญ่ได้ดำเนินการปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมัน B100 ให้ได้ตามมาตรฐาน JAMA แล้วเพื่อรองรับการบังคับใช้เป็นส่วนผสมมาตรฐานการผลิตน้ำมัน B10 อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พ.ย.62 ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน


 


โรงงานผลิตเมทิล เอสเทอร์แห่งที่ 2 ของ GGC นั้นรองรับกำลังการผลิต B100 ได้ 200,000 ตันต่อปี โดยโรงงานแห่งที่ 2 สามารถนำน้ำมันปาล์มดิบ หรือ CPO มากลั่นเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือ RPO เพื่อใช้ในการผลิตน้ำมัน B100 ได้เลย


 


ขณะที่โรงงานแรกรองรับการผลิตได้ 300,000 ตันต่อปี โดยปัจจุบันยังคงเช่าโรงกลั่นคอนเดนเสทของ บมจ.อาร์พีซีจี หรือ RPC เพื่อนำน้ำมันปาล์มดิบ หรือ CPO มากลั่นเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือ RPO เพื่อใช้ในการผลิตน้ำมัน B100 ในโรงงานแห่งแรก


 


ส่วนแผนที่จะเข้าซื้อโรงกลั่น RPC นั้นยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากยังไม่มีความจำเป็นในตอนนี้เพราะกำลังการกลั่น CPO เป็น RPO ทำได้เพียง 30% มองว่ายังไม่คุ้มค่าที่จะชื้อ สัดส่วนที่เหลือของ RPO ราว 70% เป็นการซื้อจากภายนอก นอกจากนี้ ยังไม่มีแผนขยายโรงงานผลิตน้ำมัน B100 แห่งที่ 3 เพราะมองว่ากำลังการผลิตที่มีอยู่ก็เพียงพอต่อการขายในประเทศ โดยจะเน้นการลงทุนในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์เพื่อต่อยอดเอทานอลสู้ไบโอพลาสติก


 


ขณะที่ผลการดำเนินการครึ่งปีหลัง 62 ของบริษัท จะเติบโตได้ดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก หลังจากกระทรวงพลังงานได้มีการสนับสนุนให้สถานีบริการน้ำมันจำหน่ายน้ำมันดีเซล B10 ประกอบกับช่วงไตรมาส 4/62 นั้นเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมัน B100 มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาพรวมในปีนี้คาดว่ากำลังการผลิตน้ำมัน B100 จะมากกว่า 400,000 ตันสูงกว่าปี 61 มีกำลังการผลิตในระดับ 370,000 ตันช่วยสนับสนุนผลประกอบการปี 62 นี้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ


 


#GGC
#โกลบอลกรีนเคมิคอล
#น้ำมันดีเซลB100
#นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์