Phones





DFT จับมือ EXIM Bank ขยายระบบงาน ICP ในสถาบันการเงิน

2022-12-01 20:23:56 288



นิวส์ คอนเน็คท์ - กรมการค้าต่างประเทศ (DFT) ร่วมมือ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการ ICP Network และ ICP In-house รุ่นที่ 5 เพื่อส่งเสริมภาคเอกชน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และธนาคารพาณิชย์ในไทยให้มีความรู้ความเข้าใจระบบงาน ICP เพื่อป้องกันการดำเนินธุรกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction: WMD)

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ (DFT) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) ได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการภาคีเครือข่ายความร่วมมือระบบงานควบคุมสินค้าภายในองค์กร (ICP Network) และโครงการบ่มเพาะระบบงานควบคุมสินค้าภายในองค์กร (ICP In-house) รุ่นที่ 1/2566 (รุ่นที่ 5) เมื่อวันที่ 28 – 29 พฤศจิกายน 2565 ณ EXIM โดยมีผู้เข้าร่วมฯ มากกว่า 100 ราย ประกอบด้วยผู้ผลิต ผู้นำเข้าและ/หรือส่งออกสินค้า จากอุตสาหกรรมยานยนต์ เคมี อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ส่วนใหญ่เป็นลูกค้า EXIM ผู้แทนสำนักงาน ปปง. และตัวแทนธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจในไทย เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับระบบงาน ICP ในการจัดทำเพื่อเป็นกลไกป้องกันการดำเนินธุรกรรมไม่ให้เกี่ยวข้องกับ WMD อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนยื่นขอรับการประเมินระบบงาน ICP กับกรมฯ เพื่อยกระดับมาตรฐานให้บริการสินเชื่อเพื่อส่งออกสินค้า DUI ในอนาคต

นายรณรงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบงาน ICP เป็นมาตรการสมัครใจที่ทางองค์กรสามารถดำเนินการได้ตาม 6 องค์ประกอบภายใต้ประกาศกรมฯ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับรองระบบงานฯ โดยสอดคล้องกับระบบฯ สากล ดังนี้ (1) ระบบความรับผิดชอบและมอบหมายหน้าที่ในการบริหาร : เพื่อสร้างกรอบการดำเนินงานด้าน ICP ขององค์กร (2) ระบบการตรวจสอบการใช้และผู้ใช้สุดท้าย : เพื่อประเมินความเสี่ยงของสินค้าและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรม (3) ระบบการจัดฝึกอบรม : เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้พนักงานในองค์กรเกี่ยวกับการควบคุมสินค้า DUI (4) ระบบการจัดเก็บข้อมูลและเอกสาร : เพื่อเก็บรักษาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรม (5) ระบบการตรวจสอบและการปรับปรุง : เพื่อตรวจการดำเนินการของระบบงานให้ถูกต้องตามระเบียบที่องค์กรกำหนด รวมทั้งการกำหนดมาตรการรองรับข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น และ (6) ระบบการรายงาน : เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการกรณีพบการกระทำความผิด ทั้งนี้ การดำเนินการตามหลักเกณฑ์ทั้ง 6 ข้อ จะช่วยสร้างความมั่นใจว่าธุรกรรมขององค์กรมีความปลอดภัยและไม่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMD ภายใต้หลักการขององค์กร/ธุรกิจของไทย “หากไม่มั่นใจว่าปลอดภัย อย่าปล่อยผ่าน” ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบงาน ICP

ทั้งนี้ การดำเนินการจัดทำระบบงาน ICP ไม่เพียงแต่ป้องกันการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMD ตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1540 (UNSCR 1540) ในฐานะประเทศสมาชิก และเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมให้ประเทศมีการดำเนินงานตามมาตรฐานสากลและผลักดันให้ผลการประเมินประสิทธิผลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่ การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering/Combating the Financing of Terrorism: AML/CFT) ของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force: FATF) ที่จะมาประเมินประเทศไทย ในปี 2569 ให้ระดับความน่าเชื่อถือของไทยดีขึ้นจากเดิม ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศของไทย ทั้งนี้ องค์กรที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำระบบงาน ICP ผ่านทางเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือทางสายด่วน 1385