Phones





ธนชาตประกันภัย ตั้งเป้าปี 66 เบี้ยรับรวม 1.2 หมื่นล. เติบโต 16%

2023-03-21 16:15:31 190




นิวส์ คอนเน็คท์ - ธนชาตประกันภัย โชว์ความสำเร็จปี 65 เติบโต 24% วางเป้าเบี้ยประกันภัยรับรวมปี 66 อยู่ที่ 12,000 ล้านบาท เติบโต 16% พร้อมเปิดกลยุทธ์ 5 ขุมพลังขยายฐานนวัตกรรม รุกทุกช่องทาง ตอบโจทย์งานบริการ 

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 นายพีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เป้าหมายการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับรวมในปี 2566 อยู่ที่ 12,000 ล้านบาท เติบโต 16% ด้วยการสนับสนุนจาก บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) ที่มีความมั่นคงทางการเงินสูง พร้อมผลักดันให้ธนชาตประกันภัยเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด 

สำหรับภาพรวมความสำเร็จในปี 2565 ที่ผ่านมา มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 10,320 ล้านบาท เติบโต 24% มีกำไรสุทธิ 697 ล้านบาท โดยมาจากประกันภัยรถยนต์ 89% จากทุกช่องทางการจำหน่าย พร้อมฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้สถาบันทริสเรทติ้งยังคงจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินที่ระดับ AA- (stable) สะท้อนมุมมองให้เห็นว่าธนชาตประกันภัยมีศักยภาพการดำเนินธุรกิจที่อยู่ในระดับที่ดีมาก

“เราเป็นบริษัทประกันภัยที่มีนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมด้วยความแข็งแกร่งมั่นคงทางการเงิน บริหารความเสี่ยงอย่างมืออาชีพ รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยสร้างสรรค์คุณภาพงานบริการที่เป็นเลิศให้กับลูกค้า ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในแบรนด์ธนชาตประกันภัย ที่พร้อมจะมุ่งสู่อันดับ 1 ในใจของลูกค้าด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัย” นายพีระพัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทมุ่งสู่การเป็นผู้นำธุรกิจประกันวินาศภัยลูกค้ารายย่อย ด้วยการดำเนินงานผ่านกลยุทธ์ 5 ขุมพลัง (Thanachart Insurance, The power of protection ธนชาตประกันภัยขุมพลังที่ให้คุณมากกว่า) ประกอบด้วย
 
1. The power of protection. พลังของการดูแลความเสี่ยงให้กับลูกค้าได้ครอบคลุมและตรงกับความต้องการ ในปีนี้จะมุ่งขยายตลาดประกันภัยรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และประกันภัยคุ้มครองรถบรรทุก (Truck) โดยตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะบุกทั้งป้ายแดงและปีต่ออายุ เน้นให้ความคุ้มครองครอบคลุมทุกกรณี ด้วยเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป พร้อมบริการหลังการขายระดับพรีเมี่ยมมาตรฐานของธนชาตประกันภัย 

2. The power of partnerships. พลังของการเสริมเครือข่ายพันธมิตรให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจร่วมกับพันธมิตรปัจจุบันเพื่อรักษาฐานการตลาด ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมให้กับกลุ่มลูกค้าปัจจุบันของบริษัทและยังขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ด้วย 

3. The power of ultimate services. พลังของการสร้างประสบการณ์งานบริการที่เหนือกว่า ธนชาตประกันภัยพัฒนางานบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวก รวดเร็ว และง่ายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งด้านเครือข่ายอู่ซ่อมรถยนต์และศูนย์บริการที่มีมาตรฐานครอบคลุมทุกจังหวัดกว่า 1,600 แห่งทั่วประเทศ การขับเคลื่อนองค์กรให้เป็น Digital Insurance โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาประสิทธิภาพและสร้างประสบการณ์ที่ประทับใจให้แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง อาทิ การให้บริการผ่าน Line Service “ธนชาตประกันภัย” ซึ่งลูกค้าสามารถแจ้งอุบัติเหตุไปจนถึงต่ออายุกรมธรรม์ได้ง่ายๆ อีกทั้งยังเพิ่มบริการ Meet and Care ผู้ช่วยส่วนตัวดูแลงานซ่อมรถแทนลูกค้า ตั้งแต่การประสานงานกับอู่ซ่อมรถ รายงานสถานะงานซ่อมทุกระยะ รวมถึงช่วยตรวจคุณภาพงานซ่อมก่อนส่งมอบรถคืนให้กับลูกค้า 

4. The power of technology พลังสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้ข้อมูล ธนชาตประกันภัยให้ความสำคัญกับระบบ Information Security Management System (ISMS) ระบบบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ซึ่งได้ผ่านการรับรองตามมาตรฐานระดับสากล ISO/IEC 27001:2013 แล้ว ยังได้พัฒนาระบบการทำงานแบบ Automate โดยใช้เทคโนโลยี Robotic Process Automation (RPA) มาประยุกต์ใช้เพื่อลดเวลาดำเนินการ อาทิ ขั้นตอนการจัดอะไหล่ได้ถูกต้อง แม่นยำ และเป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาทีม Data Scientist ผนวกกับการลงทุนโครงสร้างด้าน Infrastructure จัดทำ Data - Lake เพื่อพัฒนา AI ของตนเอง เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้านผลิตภัณฑ์และบริหารประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

5. The power of people พลังของบุคลากร ธนชาตประกันภัยเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยผลสำเร็จของงาน จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า โดยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรผ่าน IDO Culture ทั้งเรื่องของ Insightful มีความเชี่ยวชาญในงานที่ทำ Dynamic ยืดหยุ่น ความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างรวดเร็ว และ Optimal รู้จักวางแผนพร้อมจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างมาตรฐานการทำงานให้มีความสุข เน้นผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงาน โดยนำเครื่องมือด้านบริหารบุคลากรมาใช้ในหลายมิติ อาทิ การจัดทำ OKR และ KPI, ส่งเสริมรูปแบบการทำงานแบบ Agile, การปรับวิธีการทำงานให้สอดรับกับคนรุ่นใหม่ เช่น การปรับสำนักงานให้เป็นแบบ Hybrid Workplace