Phones





กรุงเทพประกันภัย ประกาศแผนปี 66 ตั้งเป้าเบี้ยฯ 30,000 ล้านบาท โต 12.5%

2023-03-25 12:23:15 147



นิวส์ คอนเน็คท์ - กรุงเทพประกันภัย ปรับแผนพลิกฟื้นธุรกิจทะยานสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิมในทุกมิติ ประกาศแผนปี 66 ตั้งเป้าเบี้ยฯ 30,000 ล้านบาท โต 12.5% ชูผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างและบริการประทับใจ เสริมทัพเทคโนโลยี ตอกย้ำการเป็น Data-Driven Organization พร้อมมาตรการเสริมความปลอดภัยด้านไซเบอร์ 

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566 ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยว่า ปี 66 บริษัทตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท เติบโต 12.5% แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ประมาณ 13,096 ล้านบาท และ เบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่ประกันภัยรถยนต์หรือ Non-Motor ประมาณ 16,904 ล้านบาท 

จากปี 65 บริษัทสามารถขยายงานด้านเบี้ยประกันภัยรับรวมได้เกินเป้าหมายโดยเติบโต 8.8% หรือ คิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวม 26,676.3 ล้านบาทและ มีรายได้สุทธิจากการลงทุน 6,254.6 ล้านบาท แต่ด้วยภาระผูกพันในการจ่ายเคลมสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด-19 อยู่ที่ 8,700 ล้านบาท ซึ่งสิ้นสุดลงในช่วงไตรมาส 2 ส่งผลให้บริษัทยังมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 638.4 ล้านบาท 

โดยปี 66 บริษัทเน้นกลยุทธ์ที่แตกต่าง และ ความมุ่งมั่นเพื่อยกระดับการบริการให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ให้มากกว่า และ ความคุ้มครองพิเศษมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผนประกันถัยรถยนต์ 2+ Super Special ซึ่งประกันดังกล่าวถือเป็นเจ้าแรกในตลาดประกันวินาศภัยไทยที่เพิ่มความคุ้มครองความเสียหายต่อกระจกบังลมรถยนต์ โดยเบี้ยประกันภัยเริ่มต้นเพียง 7,300 บาท

แผนประกันภัยรถยนต์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า(EV) โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้รับประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ซ่อมห้างสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งครอบคลุมรถยนต์ไฟฟ้าถึง 33 รุ่น จาก 20 แบรนด์ชั้นนำ โดยการรับประกันภัยรถยนต์ EV ของบริษัทมีการเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมียอดสะสม (งานใหม่รวมต่ออายุ) ราว 2,000 คัน เป็นเบี้ยประกันภัยรวมมากกว่า 100 ล้านบาท (ณ มี.ค. 66) และ คาดว่า ทั้งปี 66 จะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมไม่ต่ำกว่า 120-140 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มของธุรกิจประกันวินาศภัยปี 66 บริษัทประเมินว่า ภาพรวมธุรกิจจะได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าหลังผ่านพ้นช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั่วโลกกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ 

โดยธุรกิจประกันวินาศภัยจะได้รับประโยชน์จากยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในปี 66 ที่คาดว่า จะเติบโตเป็นบวกต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และ การขยายตัวของประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว หลังจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ ชาวไทยที่เดินไปท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมถึงยังมีนโยบายจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในอัตรา 150-300 บาทต่อคน ซึ่งคาดว่าค่าธรรมเนียมส่วนหนึ่งจะนำมาเป็นเบี้ยประกันภัยสุขภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ด้านตลาดการรับประกันภัยต่อ ยังคงมีการปรับอัตราเบี้ยประกันขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรง และ มีความถี่สูงขึ้นจากปัญหา Climate Change ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ต้นทุนการชดใช้ค่าสินอย่างทดแทนเพิ่มสูงขึ้นบริษัทประกันภัยจึงมีโอกาสได้รับเบี้ยประกันภัยที่สูงขึ้นตามไปด้วย 

ในขณะเดียวกันการแข่งขันด้านราคามีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์ภายหลังจากที่บริษัทประกันภัยหลายแห่งต้องถูกปิดการ และ ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักในปีที่ผ่านมาผนวกกับการเตรียมรับมือกับอัตราค่าสินไหมทดแทนของประกันภัยรถยนต์ที่มีแนวโน้มจะเริ่มสูงขึ้นเมื่อการเดินทาง และ การใช้ชีวิตของบุคคลกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยที่สนับสนุนข้างต้น สมาคมประกันวินาศภัยไทย ประเมินว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 66 คาดว่า จะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมโดยตรงขยายตัวอยู่ในช่วง 4.5-5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ท่ามกลางปัจจัยที่ท้าทายหลายประการ เช่น กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับเพิ่มขึ้น และ อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง 

รวมถึงยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ที่อาจได้รับผลกระทบจากการยกเลิกผ่อนปรนมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อมูลค่าหลักประกัน(LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย และ ราคาบ้านอยู่อาศัยที่ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณเบี้ยประกันอัคคีภัย เช่นเดียวกับประกันภัยทางทะเล และ ขนส่ง ที่ได้รับผลกระทบจากการส่งของของประเทศที่ตัวลงตามสภาพของเศรษฐกิจโลก 

ขณะที่ประกันภัยสุขภาพแม้จะได้รับผลประโยชน์จากการที่ผู้บริโภคตระหนักถึงความเสี่ยงด้านการเจ็บป่วยและ ภาระค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น แต่บริษัทประกันภัยมีแนวโน้มจะเพิ่มความระมัดระวังในการขยายงานประเภทนี้มากขึ้น ภายหลังเริ่มบังคับใช้มาตรฐานใหม่ของการประกันภัยสุขภาพส่งผลให้ความเสี่ยงประกันภัยในการรับประกันจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย