Phones





GULFเซ็นกู้แบงก์4.1หมื่นล.ลุยโรงไฟฟ้า2,650MW

2019-11-18 19:01:59 449




นิวส์ คอนเน็คท์ - GULF วางเป้ารายได้ปี 63 แตะ 3.6 หมื่นล้านบาท เล็งปักหมุดโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในสปป.ลาว 2,500 MW ขณะโครงการในไทยล่าสุดลงนามเงินกู้ลงทุน IPP เพิ่มอีก 2,650 MW


เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 5,300 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 5,000 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามกำลังการผลิตนั้นแบ่งออกเป็น 2 โครงการ คือ โครงการโรงไฟฟ้า กัลฟ์ ปลวกแดง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2,650 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้ กฟผ. 2,500 เมกะวัตต์


โดยล่าสุด บริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด (GPD) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 70% ผ่านบริษัท อินดิเพนเดนท์ พาวเวอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (IPD) และเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า กัลฟ์ ปลวกแดง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2,650 เมกะวัตต์ นั้นตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ระยอง 2 อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง มีมูลค่าโครงการประมาณ 50,000 ล้านบาท ได้ลงนามสัญญาเงินกู้เพื่อเข้ารับการสนับสนุนเงินกู้ในวงเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 41,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 23 ปี โดยแบ่งเป็นสกุลเงินบาทประมาณ 50% และสกุลเงินเหรียญสหรัฐประมาณ 50% กับกลุ่มสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง


สำหรับสถาบันการเงินทั้ง 16 แห่งนั้นประกอบด้วยธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC), ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (SMBC), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารออมสิน จำกัด, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารโอเวอร์ซี ไชนีส แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (OCBC), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM), ธนาคารมิซูโฮ จำกัด สาขากรุงเทพฯ, ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ จำกัด สาขาสิงคโปร์ และ DZ Bank


ทั้งนี้โครงการ GPD มีต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก เนื่องจาก GPD ได้เข้าทำสัญญาแลกเปลี่ยนจากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Interest rate swap) ได้ในอัตราที่ต่ำจากภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำในปัจจุบัน และเป็นระยะเวลา 20 ปี ทำให้ GDP สามารถปิดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยของตลาดในอนาคต โดยโครงการ GPD มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2566 และ 2567


ส่วนโครงการ GSRC ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 2,650 เมกะวัตต์มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้ กฟผ. 2,500 เมกะวัตต์ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่เดือน ธ.ค. 61 และมีความคืบหน้าการก่อสร้างประมาณ 39.5% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 โดยมีกำหนด COD ในปี 2564 และ 2565


นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในสปป.ลาว 3 โครงการ Pakbeng โครงการ Pakley โครงการ Sana kham ขนาดกำลังการผลิตรวม 2,500 เมกะวัตต์ ซึ่งความชัดเจนนั้นต้องรอภาครัฐว่าจะรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวเท่าไหร่ ขณะการลงทุนโรงไฟฟ้าแก๊สในประเทศเวียดนาม 6,000 เมกะวัตต์คาดว่าจะต้องนำเข้า LNG ราว 5 ล้านตันต่อปี


นายสารัชถ์ กล่าวถึงผลประกอบการในปี 63 ว่า ตั้งเป้ารายได้เติบโตเป็น 36,000 ล้านบาท จากปี 62 คาดว่าจะมีรายได้ 33,000 ล้านบาท เนื่องจากในปีหน้าจะมีโรงไฟฟ้าที่ COD เข้ามาเพิ่ม เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในประเทศโอมาน ขนาดกำลังการผลิต 326 เมกะวัตต์ทยอย COD ปี63 โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ขนาด 20 เมกะวัตต์ และพลังงานลมที่เวียดนาม 310 เมกะวัตต์ที่ทยอย COD ในปีหน้า


ขณะที่งบลงทุนในปี63 คาดว่าใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 กว่าล้านบาท ทยอยลงทุนในโครงโรงไฟฟ้า IPP 2 โครงการ โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส3 และโครงการที่ร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ (BGSR) เข้าร่วมประมูลโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี