Phones





BAY จับท่าที กนง.หลังเฟดหั่นดอกเบี้ย

2019-08-01 16:27:49 198




นิวส์ คอนเน็คท์ – โกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ประเมินกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมีความผันผวนสูงขึ้น หลังประธานเฟดไม่ส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยในอนาคต แต่คาดเฟดปรับลดดอกเบี้ยปีนี้ 1 ครั้ง และช่วงไตรมาส 1/62 อีก 1 ครั้ง สั่งจับตาการประชุม กนง.สัปดาห์หน้า


นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่กรอบ 2.00-2.25% ตามความคาดหมายของตลาด และถือเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีของสหรัฐ ด้วยเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ 8-2 ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าและดอลลาร์แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 2 ปีเมื่อเทียบกับตระกร้าสกุลเงินสำคัญ


ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลดลง หลังจากที่เฟดไม่ได้ให้คำมั่นว่าจะลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาทองคำลดลง ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวในลักษณะแบนราบ ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมวันที่ 30-31 ก.ค. เฟดระบุถึงผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และคู่ค้า รวมถึงเงินเฟ้อที่ระดับต่ำ แม้ตลาดแรงงานและการใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่ง แต่เฟดตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรายจ่ายภาคธุรกิจที่แผ่วลง นอกจากนี้ เฟดจะยุติการปรับลดขนาดการถือครองพันธบัตรให้เร็วขึ้นกว่าเดิม 2 เดือนเป็นวันที่ 1 ส.ค.62


ทางด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ประเด็นสำคัญในรอบนี้ คือ ความเห็นจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ซึ่งมองว่าการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นเพียง Mid-cycle Adjustment หรือ การปรับนโยบายในช่วงกลางวัฎจักร ทำให้ตลาดตีความว่าไม่ใช่จุดเริ่มต้นของวงจรลดดอกเบี้ยที่ใช้เป็นเวลายาวนาน อย่างไรก็ตาม ประธานเฟดปฏิเสธเช่นกันว่าการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้จะเป็นการปรับลดเพียงครั้งเดียว


โดยกรุงศรีประเมินว่า เงินดอลลาร์จะมีแรงหนุนเข้ามาช่วงสั้นๆ และกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจะผันผวนสูงขึ้นจากท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ล่าสุดของเฟด แต่การคาดการณ์ของที่ว่าเฟดมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งในปีนี้และอีก 1 ครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 จะยังคงจำกัดขาขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ สำหรับปัจจัยชี้นำถัดไปจะอยู่ที่ข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในวันที่ 2 ส.ค. รวมถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในสัปดาห์หน้า