Phones





PTT-GULF-WHAชี้2563เป็นปีที่ดี

2019-12-04 16:30:30 580



นิวส์ คอนเน็คท์ - PTT - GULF - WHA เชื่อมั่นปี 63 เป็นปีที่ดี ปตท.เตรียมยื่นไฟลิ่ง OR ครึ่งปีแรก มั่นใจในระยะยาวโตต่อเนื่องจากการลงทุนของกลุ่ม GULF ลั่น P/E ลดเหลือไม่เกิน 20 เท่าใน3-4 ปี การันตีโตแกร่ง WHA ยัน สงครามการค้าเป็นปัจจัยบวก หนุนจีนย้ายฐานลงทุน ปีหน้าอัดงบ 5.4 หมื่นลเานบาท ขยายลงทุนไทย/เทศ



เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวในงานสัมมนา “ส่องหุ้นไทย ฟุบ หรือ ไปต่อ รับปี 2020” ว่า ในปี 2563 ธุรกิจของกลุ่ม ปตท. จะเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น หลังจากในปีนี้ธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้ราคาสเปรดผลิตภัณฑ์ทั้งกลุ่มโรงกลั่น ปิโตรเคมีปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 4/62 ธุรกิจโรงกลั่นเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น และคาดว่าต้นปี 63 จะเริ่มเห็นสเปรดราคาน้ำมัน และปิโตรเคมีกลับมาดีขึ้น เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ เริ่มมีความคลี่คลาย ส่งผลเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นตามด้วย


ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบ คาดการณ์ปี 63 จะอยู่ที่ 55 – 65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปริมาณการผลิตออกมามากอยู่ โดยเฉพราะปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ


เติบโตตามการลงทุนของกลุ่ม
ขณะที่ทิศทางการเติบโตของกลุ่ม ปตท. นั้น จะมีการเติบโตตามขยายลงทุนในระยะยาวจากการลงทุนของกลุ่มที่จะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2564-2567 เช่น โครงการขยายกำลังการผลิตตามโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP จะเดินเครื่องผลิตในปี 66 ส่วนบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP มีการลงทุนซื้อกิจการต่างๆ เช่น กิจการของบริษัท เมอร์ฟี่ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น ในประเทศมาเลเซีย การถือหุ้นเพิ่มเติมในแหล่งบงกช การลงทุนในแหล่งปิโตรเลียม บงกช-เอราวัณ หลังจากได้รับสัมปทาน และได้รับปัจจัยหนุนจากการขยายลงทุนของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC รวมทั้งบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC


รวมถึงได้รับปัจจัยหนุนการขยายการลงทุนของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ที่ซื้อหุ้น บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ซึ่งจะเริ่มรับรู้รายได้เต็มปีในปี 63 และจะเห็นผลจากขยายการลงทุนในต่างประเทศ เช่น การลงทุนในโครงการ Gas To Power ขนาด 600 เมกะวัตต์ในเมียนมา และมีโอกาสขยายการลงทุนในรูปแบบนี้ในประเทศอื่นอีก


ส่วนความคืบหน้าการนำบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าจะยื่นแบบไฟลิ่งเพื่อเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในไตรมาส 1-2 ปี 2563 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอรายละเอียดแบบไฟลิ่งให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานพิจารณา อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากยื่นไฟลิ่งแล้ว ต้องรอการอนุมัติจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อน



GULF การันตีรายได้โตต่อเนื่อง
ด้านนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าวว่า การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 5,300 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 5,000 เมกะวัตต์นั้น จะเริ่มทยอยจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 66-67 ดังนั้น ในระยะเวลา 3-4 ปีข้างหน้า จะเห็นมีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ เติบโตเพิ่มขึ้นและมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ แม้จะมีปัจจัยสงครามการค้าก็ตาม ขณะที่ปัจจัยด้านอัตราแลกเปลี่ยนนั้น บริษัทได้ทำการป้องกันความเสี่ยงไว้แล้ว ประกอบกับมีการขยายลงทุนในต่างประเทศ เช่น เวียดนามที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี


นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เช่น ท่าเรือแหลมฉบังเฟส3 มาบตาพุดเฟส3 รวมถึงการลงทุนในโครงการที่ร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ (BGSR) เข้าร่วมประมูลโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี จะเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับนักลงทุน


ทั้งนี้ การขยายการลงทุนของบริษัทในอนาคตจะทำให้ P/E หุ้น GULF ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับผลประกอบการที่จะเข้ามาใน 3-4 ปีข้างหน้าตามที่คาดการณ์ไว้ ด้วยราคาหุ้นในปัจจุบัน P/E จะเหลืออยู่ที่ 15-20 เท่า ไม่แพงเมื่อเทียบกับ P/E ตลาดหุ้นที่ปัจจุบันอยู่ที่ 17-18 เท่า



WHAอัดงบลงทุน5ปี5.4หมื่นล.
ขณะที่นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นั้นเป็นปัจจัยบวกต่อบริษัท เนื่องจากส่งผลให้นักลงทุนจีนย้ายฐานการผลิตมายั่งประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้ลูกค้านิคมอุตสาหกรรมของบริษัทเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมเป็นลูกค้าญี่ปุ่นมากสุด แต่ขณะนี้นักลงทุนจากจีนมาเป็นอันดับ 1 รองลงมา ไต้หวัน คิดเป็นสัดส่วนลงทุนรวม 70% ส่วนญี่ปุ่นเข้ามาเป็นอันดับ 3 มีสัดส่วน 20% ที่เหลือเป็นนักลงทุนจากยุโรป ขณะที่ปัจจัยด้านการเมืองนั้นยืนยันว่าไม่มีผลกระทบกับบริษัท


ขณะเดียวกัน บริษัทวางแผนลงทุน 5 ปี (63-67) ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท เป็นการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยจะเน้นการลงทุนใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภค และโลจิสติกส์ ซึ่งยังมีศักยภาพการเติบโตค่อนข้างมาก โดยเตรียมจะประกาศแผนการลงทุนและเป้าหมายธุรกิจอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือน ม.ค.63


สำหรับยอดขายที่ดินในปีนี้ คาดว่าจะทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่ 1,400 ไร่ หลังในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้เซ็นสัญญาขายได้แล้ว 600 ไร่ และยังมีอยู่ในมือที่รอเซ็นสัญญาอีกราว 600-700 ไร่ ซึ่งอาจจะไม่ทันทั้งหมดในปีนี้ คาดว่าในจำนวนนี้จะเหลือประมาณ 100-200 ไร่ที่อาจจะเลื่อนไปเป็นไตรมาสแรกของปี 63 ดังนั้นสิ้นปี 62 นี้คาดว่าจะมียอดขายที่ดินในระดับ 1,100-1,200 ไร่ ส่วนที่นิคมฯในเวียดนามมีลูกค้า MOU เพื่อเช่าที่ดินแล้วกว่า 100 ไร่จากเป้าหมาย 200 ไร่ โดยอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากรัฐบาลเวียดนามซึ่งหากได้รับอนุมัติก็จะเปลี่ยนจาก MOU มาเป็นสัญญาเช่าที่ดินแทน

ปัจจุบัน บริษัทมีนิคมฯทั้งสิ้น 11 แห่ง แบ่งเป็น ในประเทศ 10 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และอีก 1 แห่งอยู่ในเวียดนาม โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 63 มีแผนเปิดนิคมฯอีก 1 แห่งในจ.ระยอง พื้นที่ราว 1,200 ไร่ ซึ่งในส่วนนี้จะเข้ามาช่วยรองรับจัดสรรนักลงทุนจากเกาหลีที่รัฐบาลไทยขอให้ช่วยจัดหาพื้นที่ให้ด้วย ขณะที่ในปี 64 จะเปิดนิคมฯอีก 1 แห่งซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกับ IRPC ในจ.ระยอง และในปี 65 จะเปิดนิคมฯอีก 1 แห่งในจ.สระบุรี พื้นที่กว่า 2,000 ไร่