Phones





กนง.ตรึงดอกเบี้ย1.25% - ศก.ปีหน้ายังอ่วม

2019-12-18 17:08:55 1013




นิวส์ คอนเน็คท์ – กนง. นัดส่งท้ายปี 62 มติเอกฉันท์ ตรึงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.25% ต่อปี หลังประเมินภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่ำกว่าเป้าหมาย พร้อมปรับลดตัวเลขจีดีพีปี 62 เหลือขยายตัว 2.5% และตัวเลขส่งออกติดลบ 3.3% ขณะที่ประเมินจีดีพีปี 63 ขยายตัว 2.8% และส่งออกกลับมาขยายตัว 0.5%


เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 62 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ และต่ำกว่าศักยภาพ โดยในการประชุม กนง.ครั้งนี้ ยังได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 62 ลงมาเหลือเติบโต 2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2.8% และปรับลดจีดีพีปี 63 เหลือเติบโต 2.8% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3.3%  


ขณะที่ภาคการส่งออกของไทยในปี 62 คาดว่าจติดลบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.3% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 1.1% และในปี 63 คาดว่าจะภาคการส่งออกจะเติบโต 0.5% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 1.7% ส่วนตัวเลขการนำเข้าของไทยในปี 62 คาดว่าจะติดลบ 5.2% เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะติดลบ 3.6% และในปี 2563 คาดว่าการนำเข้าจะขยายตัว 1.4% ซึ่งลดลงงจากเดิมที่คาดว่าการนำเข้าจะขยายตัว 3.5%


“เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพ และต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ จากการส่งออกสินค้าที่หดตัวมากกว่าคาดและมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ขณะที่นโยบายการเงินแม้จะลดดอกเบี้ยแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งเป็นการดำเนินการไปแล้วล่วงหน้า แต่หากเศรษฐกิจยังขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ กนง.ก็พร้อมใช้นโยบายการเงินเพิ่มเติมหากจำเป็น” นายทิตนันทิ์ กล่าว  


สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นในปีหน้า ขณะที่ภาคการส่งออกที่ผ่านมาหดตัวมากกว่าที่ประมาณการไว้และจะมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะกีดกันทางการค้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก  


ด้านภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคะอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานบางโครงการ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากรายได้ของครัวเรือนและการจ้างงานที่ปรับลดลงโดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อการส่งออก


ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยน แม้เงินบาททรงตัวจากการประชุมครั้งก่อน แต่ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินเคลื่อนไหวทั้ง 2 ทิศทางและสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาคมากขึ้น โดยกนง.ยังกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าอยู่เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง จึงเห็นว่าควรติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดต่อไป