Phones





SCB EIC มองส่งออกไทยเร่งตัวช่วงปลายปี ก่อนพลิกเป็นบวกในปี 67

2023-11-29 22:07:10 155



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - SCB EIC ชี้ตัวเลขส่งออกของไทยเดือน ต.ค. ขยายตัวต่อเนื่อง โดยประเมินส่งออกไตรมาส 4/66 พลิกกลับเป็นบวกมูลค่าส่งออกสินค้าไทยเดือน ต.ค. ขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 เดือน
 
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ระบุว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ต.ค. 2566 อยู่ที่ 23,578.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยการส่งออกเดือนนี้มีแรงสนับสนุนจากปัจจัยฐานต่ำ, ราคาสินค้าส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง 1.6%YOY และมูลค่าการส่งออกทองคำขยายตัวสูง 59.8% แต่ในภาพรวมการส่งออกไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่า 236,648.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -2.7%
 
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการส่งออกรายสินค้าปรับดีขึ้นทุกกลุ่มสินค้า นำโดย 1.สินค้าเกษตรขยายตัว 12.3% ต่อเนื่องจาก 17.7% ในเดือนก่อน โดยผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง รวมถึงข้าวส่งออกได้ดี ขณะที่การส่งออกยางพาราหดตัว, 2.สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง 5.9% ต่อเนื่องจาก 5.4% ในเดือนก่อน สาเหตุที่สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวดีในเดือนนี้เป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังสูงและการเร่งนำเข้าสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรของหลายประเทศเพื่อป้องกันผลกระทบจากภัยแล้งและนโยบายห้ามส่งออกสินค้าเกษตรของบางประเทศ เช่น อินเดีย
 
3. สินค้าแร่และเชื้อเพลิงยังขยายตัวแข็งแกร่ง 61.3% ต่อเนื่องจาก 13.8% ในเดือนก่อน แม้ราคาส่งออกสินค้ากลุ่มนี้หดตัว -1.5% ขณะที่ 4. สินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว 5.4% หลังจากหดตัว -0.3% ในเดือนก่อน โดยหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ, ทรานซิสเตอร์ และไดโอด, อัญมณี และเครื่องประดับ เป็นสินค้าหลักที่ขยายตัวดีในเดือนนี้ ขณะที่การส่งออกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว
 
สำหรับภาพรวมการส่งออกรายตลาดปรับดีขึ้นในหลายตลาดสำคัญ โดย 1. ตลาดสหรัฐฯ พลิกกลับมาขยายตัว 13.8% หลังจากหดตัว -10% ในเดือนก่อน โดยการขยายตัวในเดือนนี้เป็นไปอย่างทั่วไป สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าสำคัญในตลาดสหรัฐฯ 10 ลำดับแรกขยายตัวสูงถึง 9 สินค้า ยกเว้นเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบที่หดตัว, 2. ตลาดจีนขยายตัวชะลอลงที่ 3.4% หลังจากเร่งตัวในเดือนก่อนที่ 14.4% นับว่าเป็นตัวเลขค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนที่ดีขึ้นบ้างในเดือนนี้และปัจจัยฐานต่ำ และ 3. ตลาดสวิตเซอร์แลนด์ขยายตัวสูงถึง 135.1% จากการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (รวมทองคำ) ที่ขยายตัว 180.9%
 
ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน ต.ค. อยู่ที่ 24,411.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัว 10.2% หลังจากหดตัว -8.3% ในเดือนก่อน โดยการนำเข้าเติบโตอย่างทั่วถึงจากการนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์ที่ขยายตัว 33.4% การนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัว 21.3% และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่พลิกกลับขยายตัว 10.2% สำหรับดุลการค้าระบบศุลกากรในเดือนนี้ขาดดุล 832.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเกินดุล 2,092.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อน หากรวม 10 เดือนแรกของปี 2566 ยังคงขาดดุล 6,665 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินแรงส่งมูลค่าการส่งออกจะพลิกกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสที่ 4 จากปัจจัยราคาสินค้าส่งออกที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี (เช่น กลุ่มสินค้าเกษตร) เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มจะซบเซาน้อยกว่าคาดในช่วงท้ายปี 2023 โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย (เช่น สหรัฐฯ และจีน) ประกอบกับการที่รัฐบาลจีนขยายเพดานขาดดุลการคลังเป็น 3.8% ต่อ GDP โดยออกพันธบัตรรัฐบาลกลางเพิ่ม 1 ล้านล้านหยวน โดยเม็ดเงินครึ่งหนึ่งจะใช้เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศในไตรมาส 4 นี้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากไทยได้บางส่วน และปัจจัยฐานต่ำต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปี 2566
 
อย่างไรก็ตาม แม้มูลค่าการส่งออกในไตรมาสสุดท้ายจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส แต่การขยายตัวที่ดีขึ้นของมูลค่าการส่งออกในช่วงท้ายปีจะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงตั้งแต่ต้นปีได้ทั้งหมด ส่งผลให้มูลค่าส่งออกสินค้าในปี 2566 มีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อย โดย SCB EIC คงประมาณการมูลค่าส่งออกสินค้าไทยปี 2566 ที่ -1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน
 
ขณะที่มูลค่าการส่งออกในปี 2567 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ 3.7% จากแรงสนับสนุนหลายด้าน ได้แก่ 1. เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม โดยประเมินเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 2.5% สูงขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 2.3% ซึ่งจะส่งผลให้อุปสงค์จากต่างประเทศดีกว่าคาดการณ์ก่อนหน้า ทำให้ปริมาณการค้าโลกในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าปีนี้ค่อนข้างมาก, 2. ราคาสินค้าส่งออกยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงในปี 2567 เช่น ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงจากภัยแล้งและนโยบายควบคุมการส่งออกสินค้าในบางประเทศ
 
3. ความแออัดของห่วงโซ่อุปทานโลกคลี่คลายลง ส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกและกระบวนการส่งออกสินค้าเป็นไปได้อย่างปกติ สะท้อนจากอัตราค่าระวางเรือที่กลับเป็นปกติและระยะเวลาการส่งมอบสินค้าที่ลดลง, 4. ความพยายามของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการผลักดันการส่งออกของไทย เช่น การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศ การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) กับหลายประเทศและกลุ่มประเทศต่าง ๆ เช่น สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และศรีลังกา ซึ่งบางฉบับอาจสามารถดำเนินการให้ลุล่วงและมีผลบังคับใช้ในปี 2567 และ 5. มูลค่าการส่งออกหดตัว -1.5% ในปี 2566 จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในปี 2567 เพิ่มสูงขึ้นตามปัจจัยฐานต่ำ
 
อย่างไรก็ตาม แม้มูลค่าการส่งออกไทยในปี 2567 จะพลิกกลับมาขยายตัวได้ แต่ถือว่าไม่สูงนักเทียบค่าเฉลี่ย 10 ปีก่อนโควิดที่ 5.2% รวมทั้งยังต้องเผชิญแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในหลายพื้นที่ทั่วไทย รวมถึงความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายการเงินที่อาจตึงตัวกว่าคาดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจจีนที่อาจฟื้นช้าและเปราะบางกว่าคาด และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่อาจลุกลามหรือยืดเยื้อนานขึ้น รวมถึงประเด็นพิพาทจีน-ไต้หวัน-สหรัฐฯ ที่อาจรุนแรงขึ้นอีกครั้งจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในเดือน ม.ค. 2567 ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่าในปี 2567 มูลค่าส่งออกไทยจะกลับมาขยายตัวได้ที่ 3.7%