Phones





CIMBTปักหมุดกำไรก่อนภาษีปี63พุ่ง20%

2019-12-26 20:40:28 596




นิวส์ คอนเน็คท์ - CIMBT คาดหวังกำไรก่อนหักภาษี-ค่าใช้จ่ายปี 63 เติบโตอีก 20% จากปีนี้ที่คาดว่าจะทำได้ 1,800 ล้านบาท รับแรงหนุนจากการเติบโตของสินเชื่อ และค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้ลดลง พร้อมรุกหนักช่องทาง Digital Platform เพิ่มโซลูชั่นดึงลูกค้าใช้บริการธุรกรรมทางการเงินเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 ราย 


เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT เปิดเผยว่า ทิศทางผลการดำเนินงานของธนาคารในปี 63 มั่นใจว่าจะเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี 62 ซึ่งเป็นไปตามการขยายตัวของสินเชื่อ และค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้ที่ลดลงค่อนข้างมาก โดยธนาคารวางเป้าหมายกำไรก่อนหักภาษีและค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น 20% จากปี 62 ที่คาดว่าจะมีกำไรก่อนหักภาษีและค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ราว 1,842 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 600% เมื่อเทียบกับปี 61


ขณะที่ภาพรวมสินเชื่อในปี 63 ธนาคารตั้งเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ระดับ 10% ซึ่งเป็นการเติบโตในระดับเดียวกันกับปี 62 โดยการเติบโตของสินเชื่อในปี 63 หลักๆ จะมาจากการสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 12-13% เนื่องจากได้รับผลบวกจากการลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมไปถึงการที่ภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนออกไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยธนาคารสามารถอาศัยเครือข่ายของกลุ่ม CIMB ที่มีอยู่ในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคอาเซียน มารองรับการให้บริการแก่ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่


ในส่วนของสินเชื่อรายย่อยในปี 63 คาดว่าจะเติบโตได้ประมาณ 8% ซึ่งจะเป็นการเติบโตจากสินเชื่อบุคคล โดยหลังจากธนาคารเปิดให้ลูกค้าสามารถขอสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล ทำให้พบว่าความต้องการใช้สินเชื่อบุคคลมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารจะมีการพัฒนาโซลูชั่นที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้า เช่น การคิดอัตราดอกเบี้ยตามประวัติการชำระหนี้ของลูกค้า โดยกลุ่มลูกค้าที่มีประวัติการชำระดีจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าปกติ โดยธนาคารตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อบุคคลผ่านช่องทางดิจิทัลในปี 63 ไว้ที่ราว 3,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 42% ของยอดปล่อยสินเชื่อรายย่อย


ทางด้านตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในช่วงสิ้นปี 62 คาดว่าจะสามารถควบคุมให้อยู่ในระดับไม่เกิน 5% และตั้งเป้าหมาย NPL ในปี 63 จะลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่า 5% เนื่องจากธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้า และอาจมีการตัดขาย NPL ออกไปบางส่วน โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาธนาคารได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ตามกลยุทธ์ Fast Forward ให้กระจายตัวไปในกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำลง โดยพอร์ตสินเชื่อมีการกระจายตัวไปยังสินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อรายใหญ่มากขึ้น จากเดิมที่มีสัดส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีค่อนข้างมาก


ทั้งนี้ ในปี 63 ธนาคารตั้งเป้าจะเป็นธนาคารที่สามารถทำธุรกรรมผ่าน Digital Platform ได้ 100% ด้วย 3 แอปพลิเคชันหลัก คือ 1. CIMB THAI Digital Banking สำหรับทำธุรกรรมพื้นฐานโอนเงิน ชำระเงิน ซื้อขายกองทุน 2. Mobile Lending สำหรับปล่อยสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ผ่านมือถือ 3. Debt Consolidation การรวมหนี้เพื่อรีไฟแนนซ์ลดภาระดอกเบี้ยให้ถูกลง ซึ่งเป็น Digital Platform ที่สามารถทำงานได้รวดเร็วและง่าย รวมถึงการนำบริการที่เชื่อมโยงกับพันธมิตรที่เป็น Non-Bank เข้ามาเสริมบริการให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้หลากหลายมากขึ้น พร้อมทั้งตั้งเป้ามีผู้ใช้งาน Digital Platform ของธนาคารในปี 63 ไว้ที่ 500,000 ราย