Phones





‘โกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี’ ประเมินกรอบเงินบาท 35.30-35.90 บาท2ดอลลาร์

2024-01-29 17:58:05 89



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – โกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 35.30-35.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ รอติดตามเฟดส่งสัญญาณการกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน
 
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567  นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.30-35.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 35.64 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังซื้อขายในช่วง 35.44-35.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 10 สัปดาห์ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทย
 
ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์แตะจุดสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)คงนโยบายการเงินผ่อนคลายเป็นพิเศษ โดยผู้ว่าการบีโอเจแสดงความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเป็นสัญญาณว่าจะตัดสินใจยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบในระยะถัดไป ทางด้านธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4% ตามคาด อย่างไรก็ดี ประธานอีซีบีแสดงความเห็นไร้ทิศทางชัดเจนเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.ขณะที่แถลงการณ์ล่าสุดลบข้อความที่ระบุถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่ระดับสูงออกไป นอกจากนี้ ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 4/66 ของสหรัฐฯออกมาดีเกินคาด แต่บอนด์ยิลด์แกว่งตัวออกด้านข้าง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 11,413 ล้านบาท และ 1,619 ล้านบาท ตามลำดับ
 
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% ซึ่งโดยปกติแล้วเศรษฐกิจที่เติบโตได้อย่างสดใสจะทำให้เฟดไม่สามารถลดดอกเบี้ยลงได้ง่ายนัก แต่ตั้งข้อสังเกตว่าการขยายตัวที่แข็งแกร่งกำลังเกิดขึ้นพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวเร็วกว่าคาด โดยดัชนี PCE พื้นฐานชะลอลงสู่เป้าหมายของเฟดในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 การประชุม FOMC ครั้งนี้จึงจะสื่อแนวคิดของเฟดว่ากำลังชั่งน้ำหนักระหว่างการเติบโตที่แข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อที่ช้าลงอย่างไรในการพิจารณานโยบายการเงิน นอกจากนี้ นักลงทุนจะติดตามข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค.ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจนำไปสู่จุดเปลี่ยนของทิศทางค่าเงินดอลลาร์
 
ในส่วนของปัจจัยในประเทศ คาดว่ากระทรวงคลังปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2566 เป็นเติบโตเพียง 1.8% จากเดิมคาดไว้ที่ 2.7% ขณะที่คาดว่าปีนี้จะขยายตัว 2.8% จากที่เคยคาดว่าจะเติบโต 3.2% กดดัน Sentiment สินทรัพย์สกุลเงินบาทและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ทางด้านยอดส่งออกปี 2566 หดตัว 1.0% โดยกระทวงพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายการส่งออกปีนี้ขยายตัว 1.99% ท่ามกลางการฟื้นตัวของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และการสำรองอาหารของประเทศคู่ค้า