Phones





SCB FM มองเฟดลดดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป กดดันเงินบาทอ่อนค่า

2024-01-31 20:49:13 78



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - SCB FM คาดการณ์เฟดคงดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.นี้ และจะลดดอกเบี้ยครั้งแรกในไตรมาส 2/67 ด้านทิศทางดอกเบี้ยของไทย มอง กนง. จะยังคงดอกเบี้ยตลอดปีนี้ แม้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยจะต่ำกว่าคาด และมีแรงกดดันจากการเมืองอยู่บ้าง ขณะที่ค่าเงินบาทในระยะสั้นจะยังเผชิญแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่ง
 
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน (Financial Markets) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB FM เปิดเผยว่า ตลาดการเงินในช่วงต้นปี 2567 ผันผวนค่อนข้างมาก ทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้น เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน และเงินบาทที่อ่อนค่ากว่า 3% ในเดือนนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับมุมมองของนักลงทุนต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด โดยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่งกว่าคาดต่อเนื่อง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ก็สื่อสารว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะคุยถึงการลดดอกเบี้ย (Hawkish tone) ทำให้ตลาดมองว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยช้าลง จากที่เคยมองว่าจะลดดอกเบี้ยได้ในเดือนมี.ค. แต่ล่าสุดมองว่าโอกาสลดดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. เหลือเพียง 50% เท่านั้น
 
สำหรับภาพรวมของทั้งปี 2567 ตลาดปรับมุมมองว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยน้อยลงเช่นกัน จากที่ปลายปีก่อนเคยมองว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยได้ถึง 6-7 ครั้งในปีนี้ ปัจจุบันตลาดมองว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยเพียง 5-6 ครั้งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) จึงปรับสูงขึ้น พร้อมเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น
 
ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดในคืนวันที่ 31 ม.ค. จะคงดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นไปตามที่ตลาดคาด สำหรับโทนการสื่อสารของเฟดที่ตลาดจับตามองนั้น เฟดจะยังโทน Hawkish อยู่ คือน่าจะสื่อสารว่าการลดดอกเบี้ยจะยังไม่เกิดขึ้นเร็วนัก และจะไม่ลดดอกเบี้ยแรงมาก ซึ่งจะทำให้ US Treasury yields ทรงตัวในระดับสูงต่อได้ โดยมองกรอบ 2-year yield อาจอยู่ที่ราว 4.28-4.43% ส่วน 10-year yield อาจอยู่ที่ราว 4.05-4.20% ในช่วงนี้ สำหรับในระยะยาว มองว่า Treasury yield curve จะชันขึ้น โดย Yields ระยะสั้นจะลดตาม Fed fund rate แต่ Yields ระยะยาวลดน้อยกว่าจาก Term premium ที่น่าจะสูงขึ้น อีกทั้ง พันธบัตรรัฐบาลมีแนวโน้มออกมามากขึ้น และเฟดจะยังลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening) ต่อไป
 
ด้านทิศทางดอกเบี้ยของไทยนั้น มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงดอกเบี้ยในปีนี้ แม้ตลาดมองว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายถึง 2 ครั้ง สะท้อนจากตลาด Swap บนอัตราดอกเบี้ย THOR ระยะสั้นของไทยอยู่ต่ำกว่า Policy rate ซึ่งเหตุผลที่ตลาดมองว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยมาจากเงินเฟ้อไทยที่ติดลบ ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยที่ไม่ดีนักหลังเลขเศรษฐกิจออกมาต่ำกว่าคาด และแรงกดดันการเมืองที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยไทยอยู่ในระดับสูงเกินไปซึ่งกดดันค่าครองชีพครัวเรือน
 
อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปอัตราดอกเบี้ย THOR OIS และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจะปรับสูงขึ้นได้ เนื่องจากตลาดน่าจะ price out การลดดอกเบี้ยออกไป จากเศรษฐกิจไทยที่น่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้น เงินเฟ้อน่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาส 2 และอุปทานพันธบัตรรัฐบาล ปี 2567 ที่จะมากกว่าในปี 2566 โดยประเมินว่า 2-year yield อาจอยู่ที่ราว 2.40-2.50% ส่วน 10-year yield อาจอยู่ที่ราว 2.60-2.70%
 
ในส่วนของเงินบาทที่กลับอ่อนค่าเร็วในช่วงต้นปีนี้หลังแข็งค่าขึ้นมากเมื่อปลายปีก่อน ซึ่งเงินบาทที่อ่อนค่านั้นเป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าตามมุมมองการลดดอกเบี้ยของเฟดที่ช้าลง และ Sentiment ในตลาดทุนไทยที่ยังไม่ค่อยดีนัก สำหรับมุมมองในระยะสั้นนี้ คาดว่าเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าอยู่ โดยอาจอยู่ในกรอบราว 35.00-36.00 จาก 1.ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจยังแข็งแกร่งกว่าที่ตลาดคาด ทำให้เงินดอลลาร์ยังแข็งค่าต่อได้, 2.ตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ยังอ่อนแอต่อซึ่งกดดันเงินหยวนและค่าเงินภูมิภาคตามไปด้วย และ 3.นักลงทุนยังกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย
 
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวยังมองว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าต่อได้ เนื่องจาก 1.เงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะชะลอลงต่อเนื่องโดยอัตราเงินเฟ้อต่อปีเฉลี่ย 3 เดือน ลดลงต่ำกว่า Fed’s target ที่ 2% แล้ว ทำให้ Fed อาจเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 2 ได้, 2.ค่าเงินหยวนจะทยอยแข็งค่าขึ้นหลังภาครัฐออกมาตรการดูแลตลาดเงินต่อเนื่อง โดยล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณจากเลขการส่งออกจีนที่ขยายตัวสูงขึ้นและเงินเฟ้อจีนที่ติดลบน้อยลง และ 3.เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้นจากปีก่อน ด้วยเหตุนี้ จึงมองว่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าสู่ระดับ 32.00-33.00 ในช่วงสิ้นปี 2567