Phones





KTB เปิดตัว “เงินฝากสีเขียวมาตรฐานสากล”

2024-03-20 17:56:42 47



 
 
นิวส์ คอนเน็คท์ – KTB เปิดตัวผลิตภัณฑ์ “เงินฝากสีเขียว” ทั้งสกุลเงินบาท และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดหาเงิน และการปล่อยสินเชื่อเพื่อโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมจับมือ PTT และ PTTEP ลงนาม “โครงการบริหารสภาพคล่องเชื่อมโยงเป้าหมายด้าน ESG ครอบคลุมผลิตภัณฑ์เงินฝากสีเขียว” ครั้งแรกในไทย
 
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ธนาคารมุ่งมั่นนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม สนับสนุนการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาโลกร้อน และขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก (Net Zero Emission) ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสร้างคุณค่า ตอบโจทย์ลูกค้า สู่ความยั่งยืน” โดยยึดหลักการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ 
 
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารได้จัดทำหลักเกณฑ์การจัดหาเงินและการปล่อยสินเชื่อเพื่อโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Financing Framework) ตามมาตรฐานด้านการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมในระดับสากล เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำแบบครบวงจร สร้างมาตรฐานการให้บริการการเงินสีเขียวครบวงจร ครอบคลุมเงินฝาก สินเชื่อ และบริการทางการเงินอื่นๆ ที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมสู่ความยั่งยืน
 
ทั้งนี้ ธนาคารได้รับการสนับสนุนจาก ปตท. และ ปตท.สผ. เข้าดำเนินโครงการลงทุนเพื่อบริหารสภาพคล่องที่ครอบคลุม Green Deposits และเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดด้าน ESG หาก ปตท. และ ปตท.สผ. ดำเนินการตามเป้าหมาย ESG ได้สำเร็จ ธนาคารพร้อมสนับสนุนผลตอบแทนเพิ่มเติม หรือคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน Verra และ T-VER ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ทั้ง 3 องค์กร ได้ร่วมสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ให้ตลาดเงินและตลาดทุนไทย หลังประสบความสำเร็จจากการทำ The 1st Carbon Credit Linked FX Derivatives และ The 1st ESG Linked Derivatives กับ ปตท. และ ปตท.สผ. โดยมุ่งเน้นการลงทุนที่สร้างผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการจัดการบริษัทที่ดี เพื่อผลลัพธ์ทางการเงินที่ยั่งยืนในระยะยาว และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับประเทศไทย
 
ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ปตท. ได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ตลอดจนประยุกต์แนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมกับการบริหารจัดการทางการเงินให้พัฒนาไปพร้อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยล่าสุดได้มีการลงทุน “เงินฝากสีเขียว” (Green Deposits) ของกลุ่ม ปตท. กับธนาคารกรุงไทย เพื่อให้ธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อแก่โครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการพลังงานหมุนเวียน โครงการขนส่งด้วยพลังงานสะอาด โครงการอาคารสีเขียว ตลอดจน ในกรณีที่ ปตท. และ ปตท.สผ. ดำเนินการตามเป้าหมาย ESG ได้สำเร็จ ธนาคารกรุงไทยยังจะสนับสนุนผลตอบแทนเพิ่มเติม หรือคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน T-VER อีกด้วย
 
สำหรับความร่วมมือระหว่าง กลุ่ม ปตท. กับ ธนาคารกรุงไทย ในครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการเชื่อมโยงแผนธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน เข้ากับผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) และเงินฝากสีเขียวเท่านั้น แต่ยังตอกย้ำถึงความตั้งใจของกลุ่ม ปตท. ในการปรับเปลี่ยนสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นการลงทุนในธุรกิจคาร์บอนต่ำ ที่นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของกลุ่ม ปตท. และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับประเทศไทยแล้ว ยังช่วยสนับสนุนให้กลุ่ม ปตท. บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2050 พร้อมจุดพลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
 
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP กล่าวว่า บริษัทยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนตามแผนกลยุทธ์ โดยการขับเคลื่อนธุรกิจหลักด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการบริหารจัดการการลงทุนในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีคาร์บอนตํ่า การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต เช่น การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCS (Carbon Capture and Storage) และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการปลูกและบำรุงรักษาป่าชายเลนและป่าบก รวมทั้ง การขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และเพื่อเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 ด้วย
 
ขณะที่การลงทุนเพื่อบริหารสภาพคล่องในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการบริหารจัดการทางการเงินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว ยังสอดคล้องกับนโยบายของปตท.สผ. ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) รวมทั้ง ยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกันอีกด้วย