Phones





"เชียงใหม่"รอรถรางไฟฟ้าเปิดบริการปี70

2020-01-30 18:27:31 2945




นิวส์ คอนเน็คท์ - รฟม. อยู่ระหว่างทำรายละเอียด EIA ศึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง มูลค่าโครงการ 2.7 หมื่นล้านบาท หวังเสนอ ครม.ภายในปีนี้ เริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 65 เป้าเปิดบริการปี 70


เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ในการสรุปผลการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี มูลค่าโครงการ 27,000 ล้านบาทนั้น ได้รับความสนใจจากภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนเป็นอย่างดี


สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง จะเป็นประเภทระบบรถรางไฟฟ้า (Tram) มีลักษณะเป็นระบบรถไฟฟ้าที่วิ่งไปตามทางวิ่งหรือราง มีรูปแบบที่คล้ายกับรถไฟฟ้า MRT แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยวิ่งตามแนวเหนือใต้ รวมระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็นทางวิ่งระดับดินประมาณ 9 กิโลเมตร และเป็นทางวิ่งใต้ดินประมาณ 7 กิโลเมตร
พร้อมกับมีสถานีรับ - ส่ง ผู้โดยสาร 16 สถานี ได้แก่ สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์ สถานีศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ สถานีสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี สถานีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ สถานีแยกหนองฮ่อ สถานีโพธาราม สถานีข่วงสิงห์ สถานีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถานีขนส่งช้างเผือก สถานีมณีนพรัตน์ สถานีประตูสวนดอก สถานีแยกหายยา สถานีแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ สถานีท่าอากาศยานเชียงใหม่ สถานีบ้านใหม่สามัคคี และสถานีแม่เหียะสมานสามัคคี


ปัจจุบัน อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุน (PPP) ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556) ซึ่งได้ดำเนินควบคู่กับการศึกษาผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จกลางปี 63 จากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด รฟม.) พิจารณาก่อนเสนอผลการศึกษาโครงการให้กับคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณา รวมทั้งส่งผลการศึกษา EIA ให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา

หากขั้นตอนดังกล่าวแล้วเสร็จเร็ว คาดว่าจะสามารถนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในขั้นตอนต่อไปได้ภายในปี 63 หรืออย่างช้าไม่เกินปี 64 และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 65 โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 70 ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์จะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน รวมถึงมีความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ให้แก่ของประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงสามารถลดการใช้รถยนต์โดยรวมบนท้องถนน จึงช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้อีกด้วย


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews