Phones





กลุ่มปตท.อัดงบลงทุนพลังงานสะอาด2แสนล.

2020-02-13 17:23:20 988




นิวส์ คอนเน็คท์ - กลุ่มปตท. รายงาน “สมคิด” แจงอัดงบ 2 แสนล้านบาทลงทุนพลังงานสะอาดในระยะเวลา 5 ปี หวังกระทรวงพลังงานเร่งสรุปแนวทางซื้อขายไฟฟ้าเฉพาะพื้นที่รองรับนโยบาย EV พร้อมเสนอมาตรการเอกชนร่วมลงทุนผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลแก้ภัยแล้งในระยะยาว

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า วานนี้ (12 ก.พ.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มาติดตามนโยบายที่ได้มอบไว้กับกลุ่มปตท. นั้นตนได้ยืนยันกับรองนายกฯ ว่าได้เตรียมเงินลงทุนราว 2 แสนล้านบาทในช่วงระยะเวลา 5 ปี (63-67) สำหรับลงทุนพลังงานสะอาดในประเทศไทย


สำหรับการลงทุนพลังงานสะอาดของกลุ่มปตท.นั้น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพลังงานสะอาด Clean Fuel Project (CFP) เป็นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่นอัพเกรดน้ำมันเตาเป็นน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันดีเซล ส่วน ปตท.ก็ดำเนินการสร้างท่อก๊าซธรรมชาติ และคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อให้เกิดความมั่นคงของเชื้อเพลิงรองรับการใช้ผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม


ขณะที่ปตท.ยังมีการลงทุนในโครงการหน่วยแยกอากาศ โดยใช้พลังงานความเย็นเหลือทิ้งจาก LNG ในการผลิตก๊าซอุตสาหกรรม ซึ่งการลงทุนในโครงการนี้จะส่งผลให้เกิดมูลค่าเพิ่มและทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากนี้แล้วการลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 และการลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนพลังงานสะอาด


นอกจากนี้กลุ่มปตท.ยังได้ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยให้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ลงทุนติดตั้งโซลาร์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) โดยขยายการลงทุนตามการลงทุนของกลุ่มปตท. ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งบนหลังคาคลังสินค้า ,โรงงาน หรือสถานีบริการน้ำมัน รวมถึงการส่งเสริมให้มีสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วย ซึ่งในส่วนนี้ต้องการให้กระทรวงพลังงานเร่งเจรจากับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้เกิดการขายไฟฟ้าเฉพาะพื้นที่เพื่อรองรับการขายไฟฟ้าให้กับรถยนต์ไฟฟ้าได้


ขณะเดียวกันการลงทุนเฉพาะของปตท.ยังจัดงบลงทุนสำรองในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในช่วงเวลาดังกล่าวอีกราว 2 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น การลงทุนผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล , การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) เป็นต้น


นอกจากนี้กลุ่มปตท.ยังได้นำเสนอมาตรการรองรับการแก้ปัญหาภัยแล้งในระยะยาว โดยเฉพาะพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ โดยเสนอให้มีการเปิดประมูลในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เพื่อให้เอกชนร่วมลงทุนผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงภัยแล้ง รวมถึงรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ด้วย


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews