Phones





KTBประเมินอสังหาฯอ่วมรับพิษLTV

2019-08-08 19:12:59 191




นิวส์ คอนเน็คท์ – KTB ประเมินตลาดอสังหาฯ อ่วม รับผลกระทบมาตรการ LTV ที่เริ่มใช้ตั้งแต่เดือนเม.ย.62 ยอดโอนกรรมสิทธิ์โครงการแนวสูงเดือนเม.ย-พ.ค.ทรุดหนัก 27% ขณะที่โครงการแนวราบยังเอาตัวรอดได้หลังกระแสความนิยมโครงการบ้านแฝดเพิ่มสูงขึ้น


ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สำนักวิจัย Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์หลังจากที่มีการบังคับใช้มาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย.62นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อยอดโอนกรรมสิทธิ์และยอดพรีเซล ที่ปรับตัวลงอย่างชัดเจน โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้มีการเร่งโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้วตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/61 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาส 1/62


ทั้งนี้ ตัวเลขยอดโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงเดือนเม.ย. ถึงเดือนพ.ค.62 พบว่าติดลบถึง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยเฉพาะในส่วนของโครงการแนวสูงที่ติดลบถึง 27% ส่วนโครงการแนวราบติดลบราว 4% ซึ่งโครงการแนวราบจะได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV น้อยกว่าโครงการแนวสูง เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่โครงการบ้านแฝดจะได้รับความสนใจจากผู้ซื้อค่อนข้างมาก


โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์โครงการบ้านแฝดมีการเติบโตสูงถึง 30% ต่อปี และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 62 ยอดการโอนกรรมสิทธิ์เติบโตประมาณ 9% ซึ่งสูงกว่าตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมถึง 2 เท่า โดยคาดว่าในปี 62-63 จะมียูนิตบ้านแฝดเปิดขายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลประมาณ 6,500-7,500 ยูนิต หรือขยายตัวเฉลี่ยปีละ 18% ซึ่งบ้านแฝดราคา 3-5 ล้านบาท มียูนิตพร้อมขายมากถึง 12,000 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 60% ของตลาดบ้านแฝด


สำหรับภาพรวมสินเชื่อรวมของระบบแบงก์พาณิชย์ในปี 62 คาดว่าจะมีการเติบโตได้ราว 4-5% ซึ่งเป็นการเติบโตลดลงจากปีก่อน เนื่องจากในปี 61 ที่ผ่านมาจะมีแรงหนุนจากการเร่งตัวของสินเชื่อรถยนต์และการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย แต่ในปีนี้คาดว่าสินเชื่อทั้งสองประเภทมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีก่อน ซึ่งแม้ล่าสุดที่ธปท.ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีก 0.25% แต่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดปล่อยสินเชื่อได้ไม่มากนัก เนื่องจากตามปกติหลังจากการลดดอกเบี้ยแล้วจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมต้องใช้เวลา 1-2 ปี