Phones





ครม.เศรษฐกิจ เคาะมาตรการพยุงศก. รับมือโควิด-19

2020-03-07 11:44:43 370




นิวส์ คอนเน็คท์ – ครม.เศรษฐกิจ เคาะมาตรการทั้งด้านการเงินการคลัง และมาตรการด้านภาษี เข้าช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังเริ่มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจ พร้อมอนุมัติแจก 2,000 บาทเป็นเวลา 2 เดือน ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และอาชีพอิสระ


เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) วันนี้ (6 มี.ค.63) ได้มีการออกมาตรการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง โดยประกอบด้วยการ มาตรการแจกเงินให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น การแจกเงินให้กับประชาชน 2,000 บาทต่อคน เป็นระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ โดยจะเป็นการให้เงินกับผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และอาชีพอิสระ รวมทั้งยังมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ


ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ได้ส่งผลกระทบไปในวงกว้างมากขึ้น ไม่เฉพาะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น ซึ่งการให้เงินช่วยเหลือดังกล่าวถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยจะมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาในสัปดาห์หน้า


ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการชุดที่ 1 จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ มาตรการทางการเงินและการคลัง และมาตรการทางภาษี โดยมาตรการทางการเงิน ประกอบด้วย มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งแนวทางดำเนินการคือ ให้ธนาคารออมสินปล่อยเงินกู้ให้สถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ย 0.01% และให้สถาบันการเงินปล่อยให้ผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ


นอกจากนี้ ยังมีมาตรการพักเงินต้นและพิจารณาผ่อนภาระดอกเบี้ยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่ก่อนเริ่มเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยจะมีทั้งการยืดเวลาการชำระหนี้ ปรับวงเงินจากระยะสั้นเป็นระยะยาว ลดค่าธรรมเนียม โดยจะคลอบคลุมทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และบุคคลธรรมดา รวมถึงการปรับลดวงเงินชำระขั้นต่ำของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ขณะที่มาตรการสินเชื่อที่สำนักงานประกันสังคมนำเสนอ จะเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ ที่จะให้กับผู้ประกอบการ


สำหรับมาตรการด้านภาษี จะประกอบด้วย การลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือ withholding tax ให้กับผู้ประกอบการในประเทศ เพื่อลดภาระเป็นการชั่วคราว มาตรการลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน โดยให้นำรายจ่ายที่ผู้ประกอบการจ่ายให้กับลูกจ้างนำมาหักภาษีได้ 3 เท่า เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 ก.ค.นี้ เพื่อให้นายจ้างยังคงจ้างลูกจ้างต่อ โดยจะเน้นที่กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี


นอกจากนี้ จะมีการเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการในประเทศ โดยจะต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีประวัติดี และมีการยื่นแบบทางอินเตอร์เนต โดยจะได้รับคืนภาษีภายใน 15 วัน มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 และมาตรการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนโดยจะเป็นมาตรการชั่วคราว โดยอาศัยกรอบกองทุน SSF แต่จะแบ่งวงเงินใหม่เพิ่มเติม โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เสนอให้ลงทุนในกองที่ลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนไม่น้อยกว่า 65% ส่วนระยะเวลาการถือครองยังคงเป็น 10 ปี โดยจะต้องซื้อภายในมิ.ย.63


ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ธปท.อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ซึ่งในวันที่ 25 มี.ค.นี้ จะมีการพิจารณาปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 63 ลงจากระดับปัจจุบันที่คาดว่าจะขยายตัว 2.8% ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุดนั้น ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการนำเรื่องดังกล่าวไปประกอบการพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 25 มี.ค.นี้ ควบคู่กับปัจจัยการระบาดของไวรัสโควิด-19

>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews