Phones





KW Thailand แนะรัฐอุ้มอสังหาฯให้ตรงจุด

2020-03-10 09:42:00 871




นิวส์ คอนเน็คท์ - ซีอีโอ KW Thailand ครวญมรสุมกระหน่ำอสังหาฯ ทั้งพิษเศรษฐกิจ โควิด-19 ผสมโรง ติงรัฐแก้ปัญหาให้ตรงจุด แนะออกมาตรการเร่งด่วน ขยายฐานราคาบ้านที่จะได้สิทธิ์ลดค่าธรรมเนียมการโอนในระดับราคา 5-10 ล้านบาท


เมื่อเร็วๆ นี้ นายวิทย์ กุลธนวิภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KW Thailand บริษัทตัวแทนขายอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของโลก ภายใต้ Keller Williams Realty International สัญชาติอเมริกา และมีเครือข่ายมากกว่า 43 ประเทศทั่วโลก เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน เป็นช่วงจุดถดถอยอย่างชัดเจน และยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่ปลายปี 2561 จนถึงปัจจุบัน


โดยในต้นปี 2563 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกิดผลกระทบอย่างมาก ไม่น้อยไปกว่าธุรกิจการท่องเที่ยว เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่กระจายของเชื้อไว้รัสโคโรน่า (โควิด-19) และจะเห็นได้ว่า การแก้ไขปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐในปัจจุบัน จะแก้จากปลายเหตุ โดยไม่พยายามแก้ไขปัญหาและเข้าใจปัญหาจากสาเหตุอย่างแท้จริง รวมทั้งการประเมินสถานการณ์เพื่อรับมือกับวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้น หากภาครัฐไม่เข้ามาแทรกแซงตลาดอสังหาริมทรัพย์มากเกินไป โดยเริ่มต้นจากมาตรการควบ คุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ปัญหาที่มีอยู่อาจจะไม่มีผลกระทบรุนแรงเท่าที่เป็นอยู่


สำหรับการแก้ไขปัญหา หากใช้นโยบายสำหรับเฉพาะภาคธุรกิจ อาจจะไม่ได้ผล เนื่องจากเป็นปัญหาระดับมหภาค รัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบายอย่างรวดเร็วและทันสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหัวใจของเศรษฐกิจ ดังนั้น ควรให้ภาคธุรกิจมีส่วนในการออกความเห็นมากขึ้นกับนโยบายรัฐ เช่น ควรจัดตั้งกรรมาธิการศึกษาผลกระทบในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้ภาครัฐเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง


นอกจากนั้น ทุกมาตรการสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลดภาษีบุคคลธรรมดา การงดการเก็บเงินประกันสังคม การลดอัตราดอกเบี้ยแบบมีการควบคุมอัตราสินเชื่อที่อยู่อาศัย ไม่ให้มีช่องว่างระหว่างเงินฝากกับเงินกู้มากเกินไป (สเปรดดอกเบี้ย) จะมีผลดีต่อภาคธุรกิจซึ่งจะครอบคลุมไปถึงทุกๆ ธุรกิจ จะส่งผลดีกว่าการใช้นโยบายเฉพาะธุรกิจ

"เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น ควรเพิ่มกำหนดราคาของที่อยู่อาศัยที่ได้รับสิทธิ์การลดค่าโอนและจดจำนอง เป็น 5-10 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมได้มากขึ้น และควรยกเลิกการแทรกแซงตลาดจากมาตรการ LTV แต่ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องให้ทันกับสถานการณ์ ยกตัวอย่าง ในทุกประเทศที่มีผลกระทบจากโควิด-19 ได้มีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างรวดเร็ว เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเลวร้ายลงในช่วงกลางปี 2563" นายวิทย์ กล่าว


อนึ่ง ตามข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้คาดการณ์ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทุกประเภทในปี 2563 อยู่ที่ 372,500-400,660 หน่วย ลดลง 0.2-7.3% มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ 853,100-917,100 ล้านบาท ลดลง 2.5% ถึง 4.8% สำหรับการเปิดตัวโครงการใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2563 คาดอยู่ที่ 114,400-122,600 หน่วย


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews