Phones





คปภ.เปิดโรดแมปขับเคลื่อนอุตฯประกันภัยปี68

2025-02-05 14:15:15 150



นิวส์ คอนเน็คท์ - เลขาธิการ คปภ. เปิดโรดแมป “ประชาชน-ภาคธุรกิจ-หน่วยงานกำกับ” ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยปี 2568

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานแถลงข่าวนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ประจำปี 2568 โดยระบุว่า จากการที่สำนักงาน คปภ.ได้ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2569 ภาพรวมของธุรกิจประกันภัยไทย จะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงทั้งระบบแตะที่ 1,000,000 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว สำนักงาน คปภ. โดยด้านและสายงานต่าง ๆ ได้ร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ประจำปี 2568

โดยแบ่งการขับเคลื่อนการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนที่ 1 ประชาชน สามารถใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงโดยได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมและการบริการที่ได้มาตรฐาน อาทิ ลดเรื่องร้องเรียนที่มีปริมาณมากที่สุดคือข้อพิพาทเกี่ยวกับค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ ดังนั้น จึงควรกำหนดค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถให้เป็นจำนวนที่ชัดเจนไม่กำหนดเป็นขั้นต่ำ และกำหนดค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ให้สามารถเรียกร้องจากบริษัทประกันภัยที่รับประกันรถยนต์กรณีเป็นฝ่ายถูกของตนเองไว้ และเฉพาะประเภท 1 กำหนดเป็น Knock for Knock รวมทั้งยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของสาขาบริษัทประกันภัยในส่วนภูมิภาคให้มีความเข้มแข็ง โปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบประกันภัยไทย

นอกจากนี้ จะมีการทบทวนความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับโดยสำนักงาน คปภ. จะทบทวนความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยให้มีความเหมาะสมกับความเสี่ยงภัยและสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสมกับค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบัน อีกทั้งจะมีการผลักดันการจำหน่ายกรมธรรม์รถภาคบังคับผ่านช่องทาง online และการออกกรมธรรม์รถภาคบังคับในรูปแบบ e-Policy ซึ่งถือเป็นการตอบสนองต่อความต้องการและอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล และจัดโครงการส่งเสริมความปลอดภัยเพื่อลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้าน ESG และมาตรการเชิงป้องกันของภาคธุรกิจประกันภัย 

ส่วนที่ 2 ธุรกิจประกันภัย มีเสถียรภาพความมั่นคง ปรับตัวได้เท่าทันความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง อาทิ มีการกำกับบริษัทประกันภัยแบบรวมกลุ่ม (Group Wide Supervision) ในระดับ Solo Consolidation ที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติกรรมการ แนวทางการติดตามการถือหุ้นธรรมาภิบาล การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และระดับ Full Consolidation จะมีการพิจารณาหารือกับหน่วยงานการกำกับดูแลภาคการเงิน/ภาคการประกันภัยจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อกำหนดหลักการกำกับดูแลในระดับ Full Consolidation ซึ่งจะครอบคลุมการกำกับบริษัทที่เป็นบริษัทแม่ของบริษัทประกันภัย รวมถึงบริษัทร่วมและบริษัทที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2569 

และมีการทบทวนหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย (All Risks Calibration / Catastrophe Risk / Group Capital - for Group Risk) และมีการปรับเพิ่มอัตราการวางเงินสำรอง UPR โดยจัดกลุ่มบริษัทตามศักยภาพในการดำเนินงานและความมั่นคงของบริษัท โดยมีแผนดำเนินการให้แล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ อีกทั้งจะมีการปรับปรุงประกาศ คปภ. ว่าด้วยการลงทุนประกอบธุรกิจอื่น เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดใหม่ (EWS / Group-Wide Supervision / Risk Proportionality) มีการยกระดับการกำกับดูแลและการตรวจสอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง ERM-ORSA / Examination Form / Stress Test / แบบจำลองมาตรฐาน และมีการจัดทำคู่มือ/กรอบแนวปฏิบัติขั้นพื้นฐานของการจัดทำรายงานทางการเงินตาม TFRS 17 รวมทั้งทบทวน/ปรับปรุง EWS ให้สอดคล้องกับ TFRS 17

จัดทำแผนยุทธศาสตร์ประกันสุขภาพภาคเอกชน เพื่อกำหนดภูมิทัศน์ด้านประกันภัยสุขภาพภาคเอกชนของประเทศไทย (Health Insurance Landscape in Thailand) รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตรูปแบบใหม่ โดยปรับปรุงและพัฒนาหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินค่าเวนคืนตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถกำหนดอัตราเงินค่าเวนคืนดามกรมธรรม์ที่ต่ำลงได้หรือที่เรียกว่า Low cash surrender value (Low CSV) ที่ส่งผลให้เบี้ยประกันภัยต่ำลง ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคและส่งเสริมโอกาสให้แก่บริษัทในการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศได้มากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการพัฒนาและส่งเสริมการประกันภัยพืชผล โดยสนับสนุนการประกันภัยการเกษตรให้ครอบคลุมและตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง รวมถึงการหารือกับภาคธุรกิจประกันภัยต่อต่างประเทศถึงความสนใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยทางการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการสำรวจภัย และมีการทบทวนความคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ของบุคคลภายนอกของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ รวมทั้งจัดทำแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 5 เพื่อเพิ่มศักยภาพภาคธุรกิจ ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัย เป็นต้น

ส่วนที่ 3 ขับเคลื่อนสำนักงาน คปภ. เป็นองค์กรที่มีศักยภาพสูง อาทิ ปรับกระบวนการทำงาน Team-based / Project-based เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น และมุ่งสู่ AI Driven Organization โดยขับเคลื่อนการดำเนินการผ่าน AI Champion และนำ AI เข้ามาใช้ในการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ มีการยกระดับการบริหารผลงาน ด้วยการตั้งเป้าหมายการทำงานด้วย OKRs ที่ชัดเจนและท้าทาย รวมทั้งให้ผู้บังคับบัญชามีการติดตามการทำงาน ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการทำงาน (Coaching & Feedback) อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทำการประชาสัมพันธ์สำนักงาน คปภ.ในเชิงรุกและหลากหลาย โดยการบูรณาการความร่วมมือด้านการสื่อสาร เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมประกันภัยให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนเพิ่มมากขึ้น

เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า หัวใจสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนนโยบายและการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. คือ การทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยทั้งระบบเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยการสร้างความร่วมมือกับสมาคมที่เกี่ยวข้องด้านการประกันภัย บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทนายหน้าประกันภัยนิติบุคคล ตัวแทนประกันภัย และสื่อมวลชนทุกช่องทางเพื่อเป็นสื่อกลางนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร แนวทางการดำเนินงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ของสำนักงาน คปภ. ออกสู่สาธารณชนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในระบบประกันภัยไทย