Phones





ปี 67 'ประกันชีวิต' มีเบี้ยรับรวม 653,923 ล้านบ. เติบโต 3.23%

2025-02-19 21:09:59 163



นิวส์ คอนเน็คท์ - สมาคมประกันชีวิตไทย เผยเบี้ยประกันภัยรับรวมปี 67 อยู่ที่ 653,923 ล้านบาท เติบโต 3.23% พร้อมคาดการณ์ปี 68 เติบโต 2-3%

เมื่อเร็วๆ นี้ นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย พร้อมด้วยผู้บริหารสมาคมฯ แถลงภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตของปี 2567 มีเบี้ยประกันภัยรับรวม (Total Premium) อยู่ที่ 653,923 ล้านบาท เติบโต 3.23% เมื่อเทียบกับปี 2566 จำแนกเป็น เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ (New Business Premium) 184,331 ล้านบาท เติบโต 3.28% และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป (Renewal Premium) 469,592 ล้านบาท เติบโต 3.21% คิดเป็นอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ 83%
 
สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย 1.) เบี้ยประกันภัยรับปีแรก (First Year Premium) 120,026 ล้านบาท เติบโต 6.81% , 2.) เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) 64,305 ล้านบาท ลดลง 2.71%
โดยสาเหตุสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของธุรกิจมาจากปัจจัยเอื้อทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกระแสใส่ใจสุขภาพของประชาชนที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพและโรคร้ายแรงเติบโตเพิ่มขึ้น และยังช่วยเสริมให้สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health+CI) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 124,786 ล้านบาท เติบโต 13.66% คิดเป็นสัดส่วน 19.08% 

และยังช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance) และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ซึ่งเป็นสัญญาหลักเติบโตขึ้นตามไปด้วย โดยแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 110,777 ล้านบาท เติบโต 8.93% หรือคิดเป็นสัดส่วน 16.94% ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 282,302 ล้านบาท เติบโต 0.76% หรือคิดเป็นสัดส่วน 43.17%
 
นอกจากนี้ ยังมีเหตุจากความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจโดยเฉพาะการรักษาฐานลูกค้าเดิม โดยเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป (Renewal Premium) มีสัดส่วน 72% มีอัตราการเติบโต 3.2% คิดเป็นอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ 83% ส่วนเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ (New Business Premium) มีสัดส่วน 28% เติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการเติบโตของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ และสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง

จำแนกเบี้ยประกันภัยรับรวมแยกตามช่องทางการจำหน่าย ดังนี้ 1. การขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต (Agency) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 346,791 ล้านบาท เติบโต 2.32% เมื่อเทียบกับปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน 53.03% , 2. การขายผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 245,498 ล้านบาท เติบโต 2.67% เมื่อเทียบกับปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน 37.54% , 3. การขายผ่านช่องทางนายหน้าประกันชีวิต (Broker) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 34,484 ล้านบาท เติบโต 11.93% เมื่อเทียบกับปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน 5.27% , 4. การขายผ่านช่องทางโทรศัพท์ (Tele Marketing) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 12,910 ล้านบาท ลดลง 5.49% เมื่อเทียบกับปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน 1.97%
สำหรับปี 2568 สมาคมประกันชีวิตไทย ได้ประมาณการอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตอยู่ที่ในช่วงร้อยละ 2-3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ (Medical Inflation) ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 8 – 10% โดยบางปีสูงมากถึง 15% สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ และการขยายช่วงอายุการรับประกันสุขภาพออกไปจนถึง 80 ปี จึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้การประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงเติบโตต่อไปได้ และจะมีผลขยายไปถึงการประกันชีวิตอื่นๆ โดยเฉพาะประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance) ที่เป็นสัญญาหลักด้วย อีกทั้งยังมีการเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ การเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนและมาตรการจากภาครัฐ การผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกำกับดูแลและส่งเสริมภาคธุรกิจผ่านโครงการนวัตกรรมต่างๆ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและระบบ AI เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ และการดำเนินงานปรับปรุงช่องทางการจำหน่ายที่มีอยู่ในปัจจุบันและผสานรูปแบบการขาย ไปจนถึงการส่งมอบบริการและธุรกรรมหลังการขายที่เกี่ยวข้องกับกรมธรรม์ เพื่อยกระดับความพึงพอใจของผู้เอาประกันภัยจนสามารถขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น อีกทั้งยังมีการร่วมมือกันอย่างแข็งขันในทุกด้านของธุรกิจผ่านสมาคมประกันชีวิตไทย เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน