Phones





ครม.อัดมาตรการ "เยียวยา" สู้วิกฤตโควิด-19

2020-03-24 18:01:50 1332




นิวส์ คอนเน็คท์ – ครม.เคาะมาตรการช่วยประชาชนและผู้ประกอบการผ่านวิกฤตไวรัสโควิด-19 เตรียมแจกเงิน 5,000 บาทให้กลุ่มแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคม พร้อมเตรียมวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไว้อีก 10,000 บาทต่อคน ด้านผู้ประกอบการได้รับการขยายเวลาเสียภาษีไปถึง ส.ค.63


เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมาตรการชุดแรกจะเป็นการช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะมีการมอบเงินให้ประชาชนคนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน โดยจะให้กับกลุ่มที่เป็นแรงงาน ลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่นอกประกันสังคม


สำหรับมาตรการชุดที่ 2 จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสินเชื่อพิเศษ เนื่องจากอาจจะมีประชาชนบางกลุ่มที่มีความจำเป็น หรือมีค่าใช้จ่าย และต้องการสินเชื่อเพิ่ม ซึ่งเพื่อป้องกันประชาชนไปเป็นลูกหนี้นอกระบบ ทางธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB จะไปดำเนินการในส่วนดังกล่าว โดยจะมีวงเงิน 10,000 บาทต่อคน แต่ในกรณีประชาชนบางรายที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น มีการผ่อนรถ หรือผ่อนบ้าน ก็จะมีวงเงินพิเศษเพิ่มเติม แต่อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น


ส่วนมาตรการชุดที่ 3 คือ จะมีโครงการฝึกอบรม โดยกลุ่มแรก สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะเป็นผู้ดำเนินการ และหลังจากนั้นจะมีกลุ่มเครือข่ายมูลนิธิต่างๆเป็นผู้ดำเนินการเพิ่มเติม


ขณะที่การเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการรายย่อยนั้น ในช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยผู้ประกอบการ ที่ระบุถึงการให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการในวงเงิน 150,000 ล้านบาท แต่สำหรับวงเงินใหม่นั้น ในกลุ่มรายย่อยที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวข้อง จะมีสินเชื่อในวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย  


ทั้งนี้ ยอมรับว่าเศรษฐกิจในระยะสั้นจะได้รับผลกระทบแน่นอน แต่หลังจากนี้ไปทางกระทรวงการคลังจะมีมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งในช่วงเดือน ก.ค.จะมีปัญหาภัยแล้งเข้ามาเพิ่มเติม ดังนั้น จะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมอีก 1 ชุด เพื่อดูแลเรื่องภัยแล้ง และเกษตรกร รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ซึ่งหากประเทศไทยสามารถ จำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ คาดว่าเศรษฐกิจช่วงปลายปีจะเริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้นแน่นอน


ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กลุ่มประชาชนที่รัฐบาลต้องการเข้าไปช่วยดูแลในรอบนี้ คือ แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งจะเน้นไปที่มาตรการที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับประชาชนกลุ่มดังกล่าว โดยจะสนับสนุนเงินคนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน รวม 15,000 บาท ซึ่งประเมินว่า จะมีผู้เข้าเกณฑ์ราว 3 ล้านคน คาดว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ภายในวันที่ 28 มี.ค.63 นี้ โดยประชาชนจะได้รับเงินภายใน 5 วัน ผ่านระบบพร้อมเพย์


ส่วนกลุ่มที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับเงินเดือนกรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้าง กรณีนายจ้างไม่ให้ทำงานรับเงินไม่เกิน 180 วัน กรณีรัฐสั่งหยุด รับเงินไม่เกิน 90 วัน ซึ่งแล้วแต่กรณี นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อฉุกเฉินให้ต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อเดือน วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน และสินเชื่อพิเศษแบบมีหลักประกัน อีก 50,000 บาทต่อราย วงเงิน 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน


สำหรับมาตรการลดภาระ ประกอบด้วย 1.มาตรการยืดการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยได้ขยายเพิ่มเป็นสิ้นสุดเดือน ส.ค.นี้ 2.หักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มวงเงินลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพจาก 15,000 บาท เป็น 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท 3.ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยจากไวรัสโควิด-19 ค่าตอบแทนบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงสาธารณสุข


ด้านมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการ จะประกอบด้วย 7 มาตรการ คือ โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ เช่น ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 3% สำหรับ 2 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี


สำหรับมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายใต้มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัส ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 1 นั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการ คณะรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินเป็นผู้นำหลักในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว


2.มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย   


ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอการผ่อนปรนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวปี 62-63 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.นี้ โดยให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งนายจ้างหรือผู้ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวกับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงาน หรือยื่นผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 63 ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว


นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างเป็นระยะเวลา 3 เดือน ด้านผู้ประกันตน ให้ลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมของฝ่ายลูกจ้างลงเหลือ 1% จาก 4% เป็นระยะเวลา 3 เดือน


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews