Phones





CIMBTชี้ศก.ไทยถดถอย โควิดฉุดจีดีพีหด6.4%

2020-03-31 16:42:47 322




นิวส์ คอนเน็คท์ – CIMBT ประเมินตัวเลขจีดีพีไทยปี 63 หดตัวหนัก 6.4% รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศสำคัญทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย หวังรัฐบาลเร่งออกมาตรการด้านการคลังเข้าพยุงเศรษฐกิจก่อนลุกลามเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจ


เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงชะลอตัวแรงขึ้นกว่าช่วงเดือนที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากจีนและภูมิภาคเอเชียไปสู่ทวีปยุโรปและสหรัฐฯอย่างรวดเร็ว จนกระทบแทบทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ล่าสุดมีการประกาศมาตรการให้คนอยู่แต่ในบ้านหรือ lockdown ในแต่ละภูมิภาค การห้ามเคลื่อนย้ายคนและสินค้าตลอดจนการทำงานในเขตอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส


อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลงแรงหรือหยุดชะงัก ซึ่งอาจส่งผลให้การจ้างงานลดลง อัตราการว่างงานสูงขึ้น และกำลังซื้อแผ่วลง โดยเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ กำลังก้าวเข้าสู่ภาวะการถดถอย แต่ยังไม่ประเมินได้ว่าจะเลวร้ายเพียงใด หรือจะลากยาวเป็นวิกฤติเศรษฐกิจหรือไม่ โดยขึ้นอยู่กับการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส แนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อ และมาตรการทางการเงินและการคลังที่จะประคองและดูแลผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ


โดยสำนักวิจัย CIMBT ได้ปรับมุมมองทางเศรษฐกิจไทยจากเดิมขยายตัว 1.7% เป็นหดตัว 6.4% ตามภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจโลก ภาวะการถดถอยนี้น่าจะทำให้เศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2/63 และน่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง แต่หากสถานการณ์เลวร้ายไปอีก เศรษฐกิจไทยคงเข้าสู่ภาวะวิกฤติตามเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยก็มีความเสี่ยงเติบโตช้าก่อนหน้าไวรัสระบาด จากปัญหาสงครามการค้า ภัยแล้ง และงบประมาณที่ล่าช้า


ทั้งนี้ แม้ประเทศไทยจะอยู่ในเฟส 2 ของการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 แต่หากเทียบการระบาดทางเศรษฐกิจนั้น มองว่าเศรษฐกิจไทยได้เข้าสู่เฟส 3 ไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าธุรกิจสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว การขนส่ง และน้ำมันอาจมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ส่งผลให้ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น นักลงทุนเทขายตราสารหนี้ รวมไปถึงพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาพันธบัตรลดลงหรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มขึ้น



นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.75% ต่อปี เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่ทางกนง. จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งในไตรมาส 2/63 เหลือ 0.50% ต่อปี โดยที่ภาครัฐได้ออกมาตรการพยุงสภาพคล่องและมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ต่อเนื่อง ช่วยยืดเวลาให้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงต้นของเฟส 3 นานขึ้น โดยเฉพาะหลังตลาดพันธบัตรเริ่มอยู่ในภาวะที่


อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในปีนี้ โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเข้าสู่จุดต่ำสุดช่วงไตรมาส 2/63 ทางกนง.น่าจะใช้นโยบายอื่นควบคู่กับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการดูแลสภาพคล่อง ซึ่งมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องจะมีส่วนช่วยให้เงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่าได้ จากการที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ สภาพคล่องสูง น่าจะลดความน่าสนใจของเงินบาท รวมถึงภาวะความไม่แน่นอนในตลาดโลก จะมีผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในทิศทางแข็งค่าเทียบสกุลอื่นๆ ซึ่งเงินบาทน่าจะอ่อนค่าไปได้ถึงระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 2 นี้ และจะเริ่มมีเสถียรภาพก่อนกลับมาแข็งค่าได้เล็กน้อยจากการเกินดุลการค้า และตลาดการเงินโลกเริ่มคลายความกังวลจากปัญหาสภาพคล่อง โดยมองปลายปีนี้เงินบาทน่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews