Phones





CEOปตท.คนใหม่ยันทั้งกลุ่มลงทุน5ปี 1.5 ล้านล้าน

2020-05-13 13:08:55 614




นิวส์ คอนเน็คท์ - เปิดวิสัยทัศน์ CEO ปตท. คนที่ 10 มั่นใจผลงานปีนี้เป็นบวก ยันทั้งกลุ่มยังมีศักยภาพการลงทุน 5 ปี 1.5 ล้านล้านบาท ขณะที่ปีนี้ทั้งกลุ่มเดินหน้าลงทุน 1.4 แสนล้านบาท ชูกลยุทธ์ PTT by PTT ดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน


เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รับมอบตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTTหรือ CEO ปตท. คนที่ 10 ต่อจากนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร พร้อมเปิดเผยว่า การมำรับตำแหน่ง CEO ปตท.นั้นเป็นช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พอดี ซึ่งต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดย IMF ได้คาดการณ์ว่า จีดีพี ของโลกจะติดลบถึง 3.0% ขณะที่ประเทศไทยจีดีพี จะติดลบ 6.6% ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยประมาณการ จีดีพี ของประเทศจะติดลบ 5.3%


อย่างไรก็ตามนอกจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 แล้วกลุ่มปตท.ยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/63 ออกมาขาดทุน และคาดว่าไตรมาส 2/63 จะยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ แต่คาดว่าผลประกอบการจะกลับมาปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 3-4/63 และมั่นใจว่าผลการดำเนินงานทั้งปี 63 จะเป็นบวก


นอกจากนี้ตนยืนยันว่ากลุ่มปตท.ยังมีศักยภาพกาสรลงทุนที่แข็งแกร่ง โดยในปี 63 กลุ่มปตท.ยังมีความสามารถในการลงทุนทั้งปี 63 ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ส่วน 5 ปี (63-67) กลุ่มปตท.ก็ยังมีศักยภาพในการลงทุนประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท


ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้นปตท.ได้มีการจัดตั้ง PTT Group Vital Center เพื่อดูแลบริหารจัดการในช่วงนี้ และวางแผนไปข้างหน้า โดยการบริหารจัดการของปตท.ดำเนินงานภายใต้แผน 4R ประกอบด้วย Resilience การสร้างความยืดหยุ่นและการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องสร้างความปล่อยภัยให้กับพนักงาน ประเมินสุขภาพองค์กร โดยการจัดทำ Stress tests ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จัดความสำคัญของโครงการลงทุน จัดทำ Group Optimization ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลาย และการรักษาสภาพคล่องขององค์กร


Rที่2 Restart เตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ นำพนักงาน ลูกค้า คู่ค้ากลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด และรักษาความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มให้ได้ Rที่ 3 Reimagination เพื่อเตรียมความพร้อมออกแบบธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เป็น Next Normal ทั้งในด้านธุรกิจอัพสตรีม ดาวน์สตรีม และNew S-curve และอันสุดท้าย คือ Reform อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนจัดโครงสร้างองค์กรหรือรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต และพร้อมรองรับทุกสถานการณ์ที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น


อย่างไรก็ตามภายใต้การดำเนินงานของตนนั้นยืนยันว่าจะสานต่อนโยบายดูแลความมั่นคงทางพลังงาน และสร้างความเชื่อมั่นจากทุกภาคส่วน โดยดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดการบริหารงาน Powering Thailand Transformation เพื่อให้ปตท.เป็นองค์กรด้านพลังงานของประเทศไทยที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าผ่านการเปลี่ยนแปลง โดยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่ทุกภาคส่วน ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนไทย


โดยกลยุทธ์ที่จะทำให้บรรลุแนวคิดดังกล่าวนั้นด้วยการต่อยอดจากการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน และเพิ่มเติมด้วยการเปิดการกว้างทางความคิดรับบริบทจากภายนอกปรับให้ปตท.ตอบสนองต่อความต้องการผู้บริโภคและความคาดหวังต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้วยการใช้กลยุทธ์ PTT by PTT ประกอบด้วย Partnership & Platform สร้างพันธมิตรและพัฒนาธุรกิจของปตท.ให้มีแพลตฟอร์มมากกว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าหรือจำหน่ายสินค้า


โดยปตท.จะดึงดูดพันธมิตรที่มี Know-how จากต่างประเทศควบคู่กับความร่วมมือทั้งรัฐวิสาหกิจ เอกชน ผู้ประกอบการไทยเอสเอ็มอีในการขับเคลื่อนคุณค่าจากมือพันธมิตรสู่ผู้บริโภค ซึ่งพวกเราจะร่วมกันสร้างนิวบิสซิเนส โมเดลและนิวอีโคซิสเต็มร่วมกัน Technology ที่เกิดจากการผสมผสานด้วยโนว์ฮาว นวัตกรรมและดิจิตตอล จากทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยจะใช้เทคโนโลยีในทุกมิติของขบวนการการดำเนินงาน ทั้งการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่และใช้บริหารจัดการองค์กรร่วมทั้งการขับเคลื่อนสู่ภานนอกสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม Transparency & Sustainability สร้างความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ พร้อมกับการพัฒนาธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน


 


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews