Phones





กลุ่มแบงก์ใหญ่พาเหรดหั่นดอกเบี้ยเงินกู้MOR-MRR

2019-08-14 18:57:51 191



 


นิวส์ คอนเน็คท์ – แบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ กอดคอประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ MOR และ MRR ขานรับนโยบายดอกเบี้ยของขาลงของแบงก์ชาติ พร้อมช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย ให้เอาตัวรอดในภาวะเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า


นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MOR) ระเภทเงินเบิกเกินบัญชี และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งสองประเภทในครั้งนี้ ถือเป็นเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ในเรื่องการลดต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ



ด้านนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารมีความต้องการช่วยลดภาระต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย เพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อความท้าทายจากสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และเป็นการตอบสนองทิศทางนโยบายดอกเบี้ยของคณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) จึงได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% มาอยู่ที่ 7.12% และปรับลดอัตราดอกเบี้ย MOR ลง 0.125% มาอยู่ที่ 6.745% โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม เป็นต้นไป


ทั้งนี้ ภายหลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้แล้ว จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ของธนาคารลดลงมาอยู่ที่ 6.745% และอัตราดอกเบี้ย MLR ยืนอยู่ที่ 6.025% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับที่ต่ำที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ สะท้อนความมุ่งมั่นของธนาคารที่จะช่วยผลักดันการดำเนินธุรกิจให้กับลูกค้าของธนาคาร และเสริมสร้างการพัฒนาของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน



ขณะที่นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ MOR และ MRR ลง 0.25% ต่อปี เพื่อช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระให้กับผู้ประกอบการ SME รวมทั้งลูกค้ารายย่อย ให้ประคองตัวและฟื้นตัวจากผลกระทบของสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย MOR และ MRR ของธนาคารเหลือ 6.87% ต่อปี