Phones





PTTควงGPSC ศึกษาชิงโรงไฟฟ้าชุมชน

2020-06-16 14:51:00 385




นิวส์ คอนเน็คท์ – PTT จับมือ GPSC ศึกษาพื้นที่ตามแนวท่อก๊าซ และตามแนว 84 ตำบลวิถีพอเพียง สำหรับเตรียมความพร้อมยื่นข้อเสนอโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เล็งเปิดทางให้ GPSC เป็น Shipper LNG พร้อมลุยส่งออก LNG รองรับ Regional LNG Hub


เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ปตท.ได้ร่วมกับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งบริษัทย่อยของปตท. ศึกษาพื้นที่ตามแนวท่อก๊าซธรรมชาติ และพื้นที่โครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบลวิถีพอเพียง โดยให้ความสนใจเชื้อเพลิงประเภทก๊าซชีวภาพ ชีวมวล และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งต้องรอดูผลการศึกษาว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งต้องรอความชัดเจนของกระทรวงพลังงาน ว่าจะประกาศโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนได้เมื่อไหร่

นอกจากนี้ ได้ร่วมกับ GPSC ศึกษารายเอียดความเป็นไปได้ในการให้ GPSC ขอใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper LNG) ด้วยเช่นกัน ซึ่งต้องรอดูนโยบายการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ระยะที่2 และการปรับสูตรราคาก๊าซฯ ของกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ชัดเจนก่อน ถึงจะตัดสินใจได้ ส่วนในแง่ของการแข่งขันนั้นแม้ กกพ.จะออกใบอนุญาต Shipper LNG ให้ผู้ประกอบการเพิ่มอีก 4 รายก็ตาม แต่ ปตท. ไม่ได้มีความกังวลในเรื่องนี้ เนื่องจาก ปตท.เป็นผู้ประกอบการธุรกิจ LNG รายใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งวงจร (Value Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่มีศักยภาพด้านการแข่งขัน

ขณะเดียวกัน ในช่วงราคาก๊าซฯ ถูก สามารถนำเข้าในรูปแบบตลาดจร หรือ Spot LNG ได้ โดยปัจจุบัน Spot LNG ราคาลงมาอยู่ในระดับ 1.78 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งถูกกว่าราคาใน gas pool (ราคาเฉลี่ยของก๊าซจากอ่าวไทย -เมียนมา -สัญญาLNG ระยะยาว) และ ปตท.ก็อยู่ระหว่างทยอยนำเข้า LNG แบบ Spot มาได้จำนวน 11 ลำเรือ หรือประมาณ 6.6-7.7 แสนตันภายในปี 63 ล่าสุด ได้นำเข้ามาแล้ว 6 ลำเรือ โดยที่เป็นการเรียกรับปริมาณก๊าซจากแหล่งผลิตในอ่าวไทยให้น้อยลง แต่จะไม่กระทบต่อสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาว และมี Take or Pay ส่วนจะพิจารณานำเข้า LNG แบบ Spot มาเพิ่มอีกหรือไม่นั้น ต้องรอดูทิศทางราคาหลังจากนำเข้ามาครบทั้ง 11 ลำเรือก่อน


อย่างไรก็ตาม ธุรกิจก๊าซฯ ของ ปตท. นั้น ในอนาคตจะเน้นการเป็น Regional LNG Hub โดยมุ่งเน้นเรื่องการตลาดเป็นสำคัญ เพื่อรองรับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขาย LNG ของภูมิภาค ซึ่งคาดว่าภายหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายมากขึ้น ตลาดส่งออก LNG จะมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากได้เริ่มทดสอบระบบการขนถ่าย LNG (Reload System) ให้บริการเติม LNG แก่เรือที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการเดินเรือ (Bunkering) และทำการตลาดเพื่อสื่อสารให้กับผู้ค้า LNG เข้ามาใช้บริการบ้างแล้ว



>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews