Phones





SCBSส่องตลาดหุ้นโลกสดใสรับ“โจ ไบเดน”

2020-11-10 16:39:20 304



นิว คอนเน็คท์ – SCBS มองตลาดหุ้นทั่วโลกสัปดาห์นี้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น รับแรงบสกหลังโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ยังต้องจับตาทิศทางการเมืองสหรัฐฯ และสถานการณ์การระบาดของโควิด-19


เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 นางสาวเกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เปิดเผยว่า มุมมองการลงทุนในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยได้รับ Sentiment ในเชิงบวก จากการที่นายไบเดนชนะการเลือกตั้ง และเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ขณะที่พรรคเดโมแครตมีแนวโน้มไม่ได้ครองเสียงส่วนใหญ่ทั้ง 2 สภา ซึ่งจะส่งผลให้การปรับขึ้นภาษีและการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นทำได้ยาก รวมทั้งจะส่งผลให้นโยบายด้านต่างประเทศของสหรัฐฯ มีความประนีประนอมมากขึ้น และนโยบายขาดดุลทางการคลัง เพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 และปฏิรูปเศรษฐกิจ ยังดำเนินต่อไป


นอกจากนี้ ในสัปดาห์นี้ตลาดยังได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากแนวโน้มการส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อ จากประธานธนาคารกลางของยุโรป (ECB) และสมาชิก ECB และการทยอยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3/2020 ที่มีแนวโน้มออกมาดี รวมทั้งสัญญาณความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนและยาต้านโควิด-19 หลังบริษัท AstraZeneca วางแผนที่จะเริ่มการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ทางคลินิกในขั้นต้น และขั้นกลางที่จีน ภายในปีนี้


อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการออกมาตรการเยียวยาทางการคลังรอบใหม่ของสหรัฐฯ ความกังวลการระบาดระลอกใหม่ในสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะเมื่อเข้าใกล้ช่วงฤดูหนาว และจะส่งผลกระทบต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในระยะถัดไป ตลอดจนความเสี่ยงในประเด็น No-Deal Brexit และความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งสหรัฐฯที่ยังมีอยู่ โดยประธานาธิบดีทรัมป์ยังไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และกล่าวว่าผลการลงคะแนนไม่ยุติธรรม พร้อมทั้งเรียกร้อยให้นับคะแนนใหม่ จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดฯ และยังกดดันภาพรวมการฟื้นตัวของตลาดหุ้นโลก


สำหรับประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหรัฐฯ ความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนและยาต้านโควิด-19 ประเด็นข้อพิพาททางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และคู่ค้า ประเด็น Brexit โดยอังกฤษ และยุโรปจะมีการเจรจาข้อตกลงการค้าหลัง Brexit ในสัปดาห์นี้ ซึ่งมีแนวโน้มที่ทั้งสองที่จะยังไม่สามารถตกลงกันได้


นอกจากนี้ ยังต้องติดตาม ECB Forum โดยถ้อยแถลงของสมาชิกธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีหลายประเด็น เช่น ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกในโลกยุคหลังโควิด-19, เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อและการสื่อสารของธนาคารกลาง และนัยทางการเงินและมหภาคต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค และการปล่อยกู้สกุลเงินหยวน ของจีน, ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจโดย ZEW ของเยอรมนี, ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และ GDP ในไตรมาส 3 (รายงานครั้งที่ 2) ของยูโรโซน, ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานและทั่วไป ดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐานและทั่วไป ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ของสหรัฐฯ, ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และ GDP ในไตรมาส 3 ของอังกฤษ, ดัชนีราคาผู้ผลิต และ GDP ในไตรมาส 3 (รายงานครั้งแรก) ของญี่ปุ่น, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ของไทย


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews