Phones





RATCH ปี64อัดงบลง 1-1.5 หมื่นล้าน

2020-11-13 17:27:36 384




นิวส์ คอนเน็คท์ - RATCH เร่งปิดดีลซื้อกิจการอีก 600 เมกะวัตต์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ หวังดันกำลังการผลิตเป็น 8,700 เมกะวัตต์ ขณะที่ปี 64 อัดงบลงทุน 1-1.5 หมื่นล้านบาทลุยลงทุนกำลังการผลิตไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ เร่งดันกำลังการผลิตแตะ 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 68


เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปี 63 บริษัทจะเร่งซื้อกิจการ (M&A) โครงการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศเข้ามาเพิ่มอีก 5 โครงการ โดยในจำนวนนี้เป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกวางจิ 1 ในเวียดนาม โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง โครงการโรงไฟฟ้าพลังลม 1 แห่ง และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 1 แห่ง ซึ่งอยู่ในภูมิภาคอาเซียน โดยทั้ง 5 โครงการนั้นมีกำลังการผลิตรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นราว 600 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันให้กำลังการผลิตปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 8,700 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีอยู่ 8,100 เมกะวัตต์


ส่วนในปี 64 เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 10,000-15,000 ล้านบาท รองรับการหากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ในมืออีกราว 700 เมกะวัตต์ และการพัฒนาโครงการกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือเดิม ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 10,000 เมกะวัตต์ในปี 68 จากปีนี้ที่มีเป้าหมายราว 8,700 เมกะวัตต์ โดยมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้า หลังอยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนอีก 5 โครงการในต่างประเทศที่กล่าวมาข้างต้น


ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 64 ยังมีทิศทางที่ดีตามทิศทางกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) รวมประมาณ 376 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากโครงการพลังงานลมคอลเลกเตอร์ Collector ในออสเตรเลีย ที่จะเริ่ม COD ในไตรมาส 1/64 ,โรงไฟฟ้าพลังงานลม Thanh Phong ในเวียดนาม ที่จะเริ่ม COD ในราวเดือน ต.ค.64 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม Riau ในอินโดนีเซีย โดยยังไม่นับรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่อยู่ระหว่างมองหาในปีหน้าอีกราว 700 เมกะวัตต์ ในส่วนนี้ราวครึ่งหนึ่งจะมาจากการ M&A ในโครงการที่ผลิตอยู่แล้วก็จะทำให้สามารถรับรู้รายได้เข้ามาทันที ขณะที่ยังมีต้นทุนทางการเงินลดลงจากการกรีนบอนด์ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำด้วย


ส่วนความก้าวหน้าของ 4 โครงการใหม่ดังกล่าว แบ่งเป็น 1. โครงการลงทุนผ่านกองทุน An Binh Energy and Infrastructure Fund (ABEIF) ในเวียดนาม ที่มีการลงทุนใน 2 โครงการโรงไฟฟ้า ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน Thang Long ซึ่งเริ่ม COD ตั้งแต่ปี 61 ทำให้สามารถรับรู้รายได้เข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 3/63 และโรงไฟฟ้าพลังงานลม Thanh Phong เวียดนาม คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 4/64


2. โรงไฟฟ้าเน็กส์ซิฟ เอ็นเนอร์จี จ.ระยอง กำลังผลิต 92 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ไตรมาส 2/65 โดยจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 90 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม 3 .โรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น ส่วนขยาย จ.ปทุมธานี กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ เริ่ม COD ไตรมาส 3/65 และ 4. โรงไฟฟ้า REN จ.นครราชสีมา กำลังผลิต 40 เมกะวัตต์ กำหนด COD ปี 66 ขณะที่ความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ในจ.ราชบุรีนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดหาแหล่งเงินกู้ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 64 หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้าง มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 67 และ 68


สำหรับธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้านพลังงาน บริษัทได้ร่วมลงทุน 10% ในโครงการ Operation and Maintenance โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ซึ่งคาดว่าจะลงนามสัญญาสัมปทานได้ในเดือนธ.ค.นี้ อีกทั้งยังได้ร่วมทุนจัดตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง กำลังผลิต 60,000 ตัน/ปี ในสปป.ลาว เพื่อส่งออกจำหน่ายให้ลูกค้าอุตสาหกรรมญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นหลัก โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตได้ในปี 64 และเริ่มผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในไตรมาสแรกของปี 65


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews