Phones





กทพ.เร่งขยายโครงข่ายทางด่วน-แก้ไขปัญหาคอขวด

2020-11-27 15:12:18 952




นิวส์ คอนเน็คท์ – กทพ.เร่งขยายโครงข่ายทางด่วนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต่างจังหวัด บูรณาการร่วมกับกรมทางหลวง พร้อมดำเนินการแก้ปัญหาคอขวดจุดขึ้นลงทางด่วนติดตั้งระบบ M-FLOR ด่านเก็บเงิน


เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในงานวันคล้ายวันก่อตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ครบรอบ 48 ปี ว่า ได้มอบนโยบายให้กับ กทพ.เร่งแก้ไขปัญญาคอขวดจุดขึ้นลงทางด่วน โดยให้ไปบูรณาการร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) ในการบริหารจัดการทางถนนเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดให้เกิดความสะดวกสบายในการเดินทาง และเกิดความปลอดภัย


พร้อมกันนี้ยังเตรียมนำร่องใช้งานระบบ M-Flow ในโครงการทางพิเศษฉลองรัช และด่านฯ ที่เป็นจุดรองรับการจราจรทิศทางขาเข้าเมือง ที่มีปริมาณจราจรหนาแน่น คาดว่าจะเปิดให้บริการระบบ M-Flow ในระยะแรกที่ด่านฯ จตุโชติ ด่านฯ สุขาภิบาล 5-1 และด่านฯ รามอินทรา ของทางพิเศษฉลองรัช ในราวเดือนกรกฎาคม 2564 รวมถึงนำไปใช้กับทางพิเศษที่การทางพิเศษฯ กำลังดำเนินการก่อสร้างคือ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และโครงการทางพิเศษฉลองรัช - นครนายก -สระบุรี อีกด้วย


นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้กทพ.ไปดำเนินการศึกษาบูรณาการความร่วมมือกับกรมทางหลวงในการลงทุนก่อสร้างขยายโครงข่ายทางด่วนในต่างจังหวัด โดยการลงทุนพัฒนาทางด่วนให้เป็นหน้าที่ของกรมทางหลวง แล้วให้ กทพ.เป็นผู้บริหาร ทั้งนี้ในการขยายการลงทุนโครงข่ายทางถนนนั้นก็ต้องคำนึกถึงผลประโยชน์ของประชาชนสูงสุด รองลงมาดูว่ารัฐได้ประโยชน์สูงสุดอย่างไร พร้อมกับยึดมั่นในระเบียบกฎหมายหลักธรรมาภิบาล


นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า กทพ. ได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาเครือข่ายระบบทางพิเศษให้เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน


ขณะเดียวกัน กทพ.จะเร่งดำเนินโครงการขยายโครงข่ายทางด่วนเพิ่มเติมทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ซึ่งจะเป็นโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทางในแนวรัศมีระหว่างกรุงเทพฯ กับพื้นที่ทางด้านตะวันตกของกรุงเทพฯและปริมณฑล คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2565


นอกจากนี้ กทพ. ยังอยู่ระหว่างดำเนิน โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา - อาจณรงค์ (S1) กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลังจากสรุปผลการศึกษาความเหมาะสม คาดว่าจะใช้เวลาออกแบบรายละเอียดประมาณ 1 ปี ก่อสร้าง 2 ปี และจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 มีวงเงินลงทุน เบื้องต้นประมาณ 1,600 ล้านบาท


โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออก ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายงานขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต วงเงินลงทุน14,177 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนการเสนอโครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และขออนุญาตใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้ ล่าสุดได้รับอนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้แล้ว 2 พื้นที่ คาดว่าจะเสนอให้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการได้ในต้นปี 2564


นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการศึกษาโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี โครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี ตลอดจนศึกษาแผนแม่บททางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดขอนแก่น อีกด้วย


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews