Phones





ส.อ.ท.จับมือพลังงาน หนุนเอกชนลดต้นทุน

2020-12-03 16:56:33 1074




นิวส์ คอนเน็คท์ - ส.อ.ท. ร่วมกับ ก.พลังงาน หนุน ESCO ช่วยผู้ประกอบการเอกชนลดต้นทุนด้านพลังงาน คาดช่วยกระตุ้นการลงทุนปีละ 2,000 ล้านบาท การันตีผลประหยัดพลังงานปีละ 500 ล้านบาท


เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในงานสัมมนาเชิงวิชาการ Thailand ESCO Fair 2020 หัวข้อ "Move Forwards to Smart Industry by ESCO" ว่า การจัดงานในครั้งนี้ กระทรวงพลังงานร่วมมือกันระหว่างสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และบริษัท จัดการพลังงาน (ESCO) ซึ่งตลอดระยะเวลา 11 ปีนั้น ESCO ส่งเสริมการลงทุนอนุรักษ์พลังงานกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมกว่า 20,000 ล้านบาท สามารถช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนพลังงานรวมกันกว่า 5,000 ล้านบาท โดยการส่งเสริมให้เกิดการลดต้นทุนพลังงานนั้นเฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท ช่วยประหยัดพลังงานได้เฉลี่ยปีละ 500 ล้านบาท


อย่างไรก็ตาม ในปีนี้จากช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมลดลง ส่งผลให้เม็ดการลงทุนเพื่อลดต้นทุนได้พลังงานจึงปรับลดลงด้วยเหลือประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยในปี 64 หากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 มีวัคซีนป้องกัน สถานการณ์คลี่คลายมากขึ้น คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมก็จะกลับมาเติบโตปกติ


นอกจากการส่งเสริมการลดต้นทุนด้านพลังงานแล้ว ESCO ยังได้รวมสมาชิกกว่า 50 บริษัทด้านจัดการพลังงานมาเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการอีกด้วยที่จะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพกลไกการบริหารจัดการระบบข้อมูลงานวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานให้เหมาะสม มีความทันสมัย ตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของประเทศ และช่วยเพิ่มศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์จริงให้กับทุกภาคส่วน รวมถึงสนับสนุนทรัพยากร และพัฒนาการดำเนินงานด้านวิชาการ เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สามารถแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมพลังงานและสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ



นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (Technology Disruption) ผลกระทบจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้พฤติกรรมและวิถีการดำรงชีวิตไม่เหมือนเดิม ทำให้หลายภาคส่วนต้องปรับรูปแบบการดำเนินงานจนกลายเป็นวิถีความปกติใหม่ (New Normal) ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเร่งเรียนรู้นวัตกรรมด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร Big Data ตลอดจนการเชื่อมโยงอุปกรณ์และระบบต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต นำไปสู่ Smart Industry อันเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนด้านพลังงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ


ด้านนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการไทยจะก้าวไปข้างหน้าสู่ Smart Industry ได้นั้น ควรเร่งพัฒนาบุคลากรของเราให้สามารถจัดการกับ Disruptive Technology ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม และเร่งเรียนรู้นวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เช่น ด้านหุ่นยนต์ ด้านระบบอัตโนมัติ ด้านยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) และด้านเทคโนโลยีของระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ตลอดจนปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ที่ผู้บริโภคกลายเป็นศูนย์กลาง สามารถควบคุมการใช้ไฟฟ้า การผลิต การขาย และทางเลือกแหล่งพลังงานของตนเองได้ ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค (Prosumer)


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews