Phones





กทม.-BTS กดปุ่มเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือถึงคูคต

2020-12-16 14:47:27 1112




นิวส์ คอนเน็คท์ - BTS กดปุ่มเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือถึงคูคต ขณะที่ กทม.เตรียมเจรจา BTS ยันค่าโดยสารตลอดสาย 65 บาท พร้อมเปิดบริการฟรีสายสีเขียว-สายสีทองถึง 15 ม.ค.64


เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงหมอชิต  - สะพานใหม่ – คูคต) จำนวน 7 สถานี ว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล โดยตั้งแต่ตนมาดำรงค์ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ได้เห็นความก้าวหน้าของการพัฒนารถไฟฟ้ามีความคืบหน้าไปมากหลายเส้นทาง ส่วนการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือไปถึงคูคต จ.ปทุมธานี นั้นจะช่วยให้การเดินทางเชื่อมโยงระหว่างชานเมือง หรือปริมณฑลเข้าสู่ในเมืองได้สะดวกสบายมากขึ้น และยังเป็นการลดมลพิษได้อีกด้วย


ส่วนกรณีการต่ออายุสัญญาสัมปทานบริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งโครงการ ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และราคาค่าโดยสารนั้นหน่อยงานที่เกี่ยวข้องก็อยู่ระหว่างเจรจากันอยู่ ซึ่งก็ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย หลักธรรมาภิบาล


สำหรับจำนวน 7 สถานี ประกอบด้วย  สถานีพหลโยธิน59 (N18) สถานีสายหยุด(N19) สถานีสะพานใหม่(N20) สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช(N21) สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ(N22) สถานีแยกคปอ.(N23) และสถานีคูคต (N24) คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารในส่วนต่อขยายช่วงสถานีห้าแยกลาดพร้าว(N9) - สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) เฉลี่ยในวันทำการที่ 132,200 เที่ยว/คนต่อวัน จะเพิ่มขึ้นเป็น  252,200 เที่ยว/คนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว


พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 42 ที่ กทม. ได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย คือ "รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สาย 1 สายสุขุมวิท ช่วงหมอชิต – อ่อนนุช และได้พัฒนาโครงข่ายอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา  รถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ขยายเชื่อมโยงทุกพื้นที่สำคัญทั้งกรุงเทพฯและฝั่งธนบุรี และขยายในแนวเหนือ-ใต้ นอกจากจะเป็นรถไฟฟ้าสายแรกของ กทม.แล้ว ในวันนี้ถือได้ว่าเป็นรถไฟฟ้าสายแรกในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีด้วย นับเป็นระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญยิ่งของประชาชนชาวกรุงเทพฯและปริมณฑล สามารถเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ ด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว  และปลอดภัย


นอกจากนี้ยังเป็นรถไฟฟ้าแกนหลักที่สามารถกระจายประชาชนเดินทางไปได้ทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ เนื่องจากมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าอีก 5 สายโดยที่เปิดให้บริการให้คือ เชื่อมรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่สถานีพญาไท เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินถึง 5 จุด ที่สถานีอโศก สถานีศาลาแดง สถานีหมอชิต สถานีห้าแยกลาดพร้าว และสถานีบางหว้า เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีทองที่สถานีกรุงธนบุรี และภายในปี 65 จะเชื่อมรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างใหม่อีก 2 สายคือ เชื่อมกับสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และเชื่อมกับสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ที่สถานีสำโรง 



โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวประสบความสำเร็จ เปิดให้บริการครบทุกสถานี  ตลอดเส้นทาง ทั้ง 59 สถานี รวมระยะทางกว่า 68 กิโลเมตร มีรถไฟฟ้าให้บริการมากที่สุด ถึง 98 ขบวน 392 ตู้ และมีการจัดรูปแบบการเดินรถให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถรองรับผู้โดยสารทั้งระบบได้สูงสุด มากกว่า 1,500,000 เที่ยวคนต่อวัน ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ตลอดจนส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวทั้งใน กทม.และจังหวัดปริมณฑล และก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่โดยรอบเส้นทางรถไฟฟ้า รองรับการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง


พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายนั้นวันศุกร์ที่ 18 ธ.ค.นี้จะมีการประชุมหารือร่วมกับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) สำนักการจราจรและขนส่ง เพื่อหารือเรื่องค่าโดยสาร โดยในเบื้องต้น กทม.ยังคงยืนยันจะให้ BTS เก็บค่าอัตราค่าโดยสารสูงไม่เกิน 65 บาทจากราคาค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 158 บาท โดยส่วนต่างที่เหลือกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้รับภาระเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งก็จะพยายามให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว


ทั้งนี้ กทม.จะเปิดให้ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ฟรีถึงวันที่ 15 ม.ค.64 ในส่วนของสายสีเขียวเหนือตั้งแต่สถานี 5 แยกลาดพร้าวถึงคูคต ส่วนสายใต้ตั้งแต่สถานีสำโรงถึงการเคหะสมุทรปราการ และรถไฟฟ้าสายสีทอง หลังจากนั้นจะเริ่มเก็บค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายทอง 15 บาทตลอดสาย ส่วนสายสีเขียวมีค่าแรกเข้า 14 บาท


ส่วนเรื่องการต่ออายุสัญญาสัมปทานบริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งโครงการ ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต นั้นได้ตอบทุกข้อสงสัยต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปหมดแล้ว ซึ่งจะมีการต่ออายุสัญญาสัมปทานหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการต่ออายุสัญญาสัมปทานให้กับ BTS นั้นจะส่งผลให้ กทม. ต้องรับภาระหนี้จ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายทั้งสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ซึ่งปัจจุบันมีหนี้อยู่ราว 8,300 ล้านบาท และในเดือน ม.ค. 64 หากยังไม่ได้ลงนามต่ออายุสัมปทาน 30 ปีให้ BTS จะส่งผลให้มีหนี้เพิ่มเป็น 8,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเดือนละ 200 ล้านบาท ซึ่ง กทม.ไม่มีเงินเพียงพอที่จะมาแบกรับภาระหนี้ดังกล่าว


สำหรับหนี้ค่างานก่อสร้างโยธา และการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ที่รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 100,000 ล้านบาทรวมดอกเบี้ยนั้นอยู่ระหว่างเจรจากับกระทรวงการคลังอยู่ว่าจะช่วยอย่างไรได้บ้าง เพราะ กทม. ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะมาชำระคืนหนี้ดังกล่าว


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews