Phones





BAYเดินยุทธศาสตร์ 4 ด้านรับมือความเสี่ยงศก.

2021-01-21 17:41:43 654




นิวส์ คอนเน็คท์ – BAY แจ้งผลประกอบการปี 63 มีกำไรสุทธิ 23,040 ล้านบาท ลดลง 14.5% หลังมีการตั้งเงินสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่


 


เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายในปี63 ที่ผ่านมา กรุงศรียังเดินหน้าผลักดันแผนเชิงยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ การเสริมสร้างประสบการณ์ลูกค้าผ่านกระบวนการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Customer Experience Enhancement) การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยศักยภาพด้านข้อมูล (Data-Driven Capabilities)


 


นอกจากนี้ ยังเน้นกลยุทธ์ความร่วมมือกับพันธมิตร (Partnership Strategy) และการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ (Overseas Business Expansion) ซึ่งกรุงศรีสามารถดำเนินตามแผนสู่เป้าหมายที่วางไว้ จากความสำเร็จของ Hattha Kaksekar Ltd. บริษัทไมโครไฟแนนซ์เครือกรุงศรีในกัมพูชาในการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์


 


ทั้งนี้ กรุงศรียังได้ปรับแผนการดำเนินการเชิงรุกเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมุ่งเน้นมาตรการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง รักษาคุณภาพสินทรัพย์ และควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ


 


อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีก่อนที่จะกลับไปสู่สภาวะก่อนเกิดการระบาด โดยฝ่ายวิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.5% ในปี 64 จากฐานที่ต่ำซึ่งหดตัวลง 6.4% ในปี 63 โดยคาดว่าการฟื้นตัวจะอยู่ในระดับที่แตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม


 


โดยในปี 64 ในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) ควบคู่ไปกับความแข็งแกร่งทางการเงิน กรุงศรีจะยังคงดำเนินงานตามนโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบระมัดระวัง และดำเนินมาตรการความช่วยเหลือเชิงรุก เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมและกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างเต็มที่


 


สำหรับผลประกอบการของธนาคารในปี 63 มีกำไรสุทธิ 23,040 ล้านบาท ลดลง 14.5% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติในปี 2562 โดยเป็นผลมาจากการตั้งเงินสำรองเพิ่มขึ้น ขณะที่เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 0.8% หรือจำนวน 15,058 ล้านบาท โดยสินเชื่อเพื่อรายย่อย และสินเชื่อเพื่อลูกค้า SME มีการเติบโต 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ


 


ในขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ปรับลดลง 1.5% ส่วนใหญ่เกิดจากการชำระคืนเงินกู้ของบรรษัทไทย
เงินรับฝากมีจำนวนทั้งสิ้น 1,834,505 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.1% หรือจำนวน 267,620 ล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธ.ค.62 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากออมทรัพย์ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.47% ปรับลดลงจาก 3.60% ในปี62 โดยมีปัจจัยหลักจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อตามมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19


 


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews