Phones





CIMBT หั่นจีดีพี - ศก.รับพิษสงครามการค้า

2019-08-30 17:23:58 187




นิวส์ คอนเน็คท์ – CIMBT หั่นเป้าจีดีพีของไทยในปี 62 เหลือ 2.8% หลังเริ่มรับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าเพิ่มมากขึ้น และเศรษฐกิจอาจชะลอตัวไปจนถึงปี 63 หาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ชนะการเลือกตั้งอีกสมัย พร้อมแนะจับตารัฐบาลจีนอาจมีการออกมาตรการสกัดเงินไหลออก ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย


ดร.โดนัล ฮานนา หัวหนัานักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาค กลุ่มซีไอเอ็มบี เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเพิ่มมากขึ้น โดยภาวะสงครามการค้ามีแนวโน้มลากยาวไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 63 ซึ่งหากโดนัลด์ ทรัมป์ ยังได้รับตำแหน่งผู้นำสหรัฐ มองว่าความตึงเครียดกับจีนก็จะคงมีต่อเนื่อง ดังนั้นเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตช้าลง และอาจจะกระทบไปถึงปี 63


สำหรับผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนนั้น ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนมีการชะลอตัวลงไปบ้าง จากปัจจุบันที่เติบโตสูงกว่าศักยภาพที่ 6.2% โดยการเติบโตในระดับดังกล่าวมาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน อย่างไรก็ตาม ทางสำนักวิจัย CIMBT กังวลปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนที่มีโอกาสอติดลบ จากปัจจุบันยังบวก 1% ซึ่งเมื่อเทียบกับเมื่อปี 50 เคยอยู่ในระดับสูง 10%


นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเรื่องปัญหาเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นหลังจากจีนมีการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้มีการลงทุนและการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงจำนวนคนจีนที่เดินทางออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินหยวน และอาจะทำให้รัฐบาลจีนมีการออกมาตรการป้องกันเงินไหลออก โดยเฉพาะการควบคุมการเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีน ซึ่งจะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยค่อนข้างมาก


ด้าน ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT กล่าวว่า สำนักวิจัย CIMBT ปรับประมาณการเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.8% จากเดิม 3.3% หลังความตึงเครียดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเริ่มเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ภาคการลงทุนเอกชนมีแนวโน้มที่จะติดลบในครึ่งปีหลังของปี 62


ขณะที่ภาคการส่งออกมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่อง แต่มองว่าจะไม่รุนแรงเหมือนในช่วงครึ่งปีแรก โดยเมื่อเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวมองว่าผู้ประกอบการจะมีการปรับแผนด้วยการลดกำลังการผลิตลง และจะมีผลต่อการนำเข้าเครื่องจักร รวมถึงวัตถุดิบอื่นๆ ซึ่งเมื่อเอกชนชะลอการลงทุน จะส่งผลกระทบต่อมายังการบริโภค การจ้างงานจะมีแนวโน้มลดลง ชั่วโมงการทำงานมีแนวโน้มถูกตัดมากขึ้น


อย่างไรก็ตาม นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐจะช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวไปมากกว่าปัจจุบัน โดยดำเนินผ่านการผ่านมาตรการกระตุ้นการบริโภคระดับล่าง แต่มองว่านโยบายที่จะกระตุ้นการลงทุนมีความจำเป็นมาก และหวังจะได้เห็นแรงกระตุ้นลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 62 ขณะที่นโยบายการเงินมีโอกาสจะได้เห็นมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม และคาดว่าทางการจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในไตรมาส 4/62 เพื่อประคองเศรษฐกิจ โดยลดภาระค่าใช้จ่ายภาคเอกชน และจะช่วยประคองผู้ส่งออก