Phones





FETCO ชี้ดัชนีเชื่อมั่น 3 เดือนหน้าร้อนแรง

2021-03-04 16:16:38 428




นิวส์ คอนเน็คท์ - FETCO คาดดัชนีเชื่อมั่นอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 152.19 เพิ่มขึ้น 14.8% อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม หลังโควิดคลี่คลาย-รับวัคซีนลอตแรก ชี้หุ้นท่องเที่ยวน่าสนใจที่สุด


เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ดัชนีในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 152.19 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.8% จากเดือนก่อน ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังการคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19 จากการที่ไทยได้รับวัคซีนลอตแรกเป็นปัจจัยหนุนหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ


ขณะเดียวกันปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ที่ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น รองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ


โดยความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลดลง 2.3% อยู่ที่ระดับ 140.74 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง 8.6% อยู่ที่ระดับ 114.29 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% อยู่ที่ระดับ 129.41 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับตัวเพิ่มขึ้น 46.7% อยู่ที่ระดับ 183.33


ทั้งนี้นักลงทุนสนใจลงทุนในหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) มากที่สุด รองลงมาคือหมวดธนาคาร (BANK) และหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERGY) ขณะที่นักลงทุนเห็นว่าหมวดเหล็ก (STEEL) ไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือหมวดแฟชั่น (FASHION) และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP)


สำหรับในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 SET index มีความเคลื่อนไหวในกรอบแคบ อยู่ระหว่าง 1,478.05 – 1,523.11 ซึ่งในเดือนนี้มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2563 ซึ่งหดตัวลงที่ระดับ -6.1% จากผลกระทบต่อเนื่องของการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ทำให้อุปสงค์ภายนอกประเทศทั้งการส่งออกสินค้าและบริการในภาพรวมยังคงอ่อนแอ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง และในช่วงปลายเดือน FTSE Russell ประกาศลดสัดส่วนหุ้นไทยในการคำนวณดัชนี


อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนโดยรวมยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่ FED ประกาศใช้มาตรการ QE อัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง การมาถึงของวัคซีน Covid-19 “ซิโนแวค” ลอตแรก และการที่มีนักลงทุนรายใหม่เปิดบัญชีเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์จำนวนมากเกือบแสนบัญชีเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ OR ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 โดย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ SET Index ปิดที่ 1,496.78 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.03% จากเดือนก่อนหน้า


ด้านปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การทยอยคลาย Lock Down ในหลายประเทศในยุโรปและอเมริกาหลังจากประชาชนได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา และผลการประชุมของ 3 ธนาคารกลางหลัก (Fed, ECB และ BoJ) หลัง Bond Yield ในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้น


ส่วนปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ กระบวนการแจกจ่ายวัคซีน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระสามซึ่งหากไม่ได้รับความเห็นชอบ อาจส่งผลต่อเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองอีกครั้ง


นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยเดือนมีนาคม 2564 ว่า ผลจากดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ของตลาดที่คงมุมมองเช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว ว่า กนง. จะรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 1/64 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากการสำรวจเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 64


โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากที่คาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปีอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัจจัยจากต่างประเทศจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นสูงมากในช่วงที่ผ่านมา และความกังวลเรื่อง COVID-19 ที่ลดลง และการแจกจ่ายวัคซีนในวงกว้างมากขึ้นอาจส่งผลให้นักลงทุนขายสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาลและเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น อย่างไรก็ตามมีผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วนที่คาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 และ 10 ปีอาจปรับตัวลดลงเนื่องจากอัตราผลตอบแทนที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้นสูงเกินกว่าปัจจัยทางพื้นฐานมาก และอาจมีการแทรกแซงจาก ธปท. ได้หากอัตราผลตอบแทนขึ้นสูงเกินไป


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews