Phones





เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง ปรับกลยุทธ์รับมือโควิด-19

2021-05-19 17:38:02 288




นิวส์ คอนเน็คท์ - เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง ชู 3 แนวทางหลัก การบริหารจัดการความเสี่ยงของธุรกิจและทรัพย์สิน การจัดการระบบกงสีอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ เผยปัจจุบันให้บริการลูกค้าประมาณ 3,600 ราย ครอบคลุมทรัพย์สินครอบครัวกว่า 120,000 ล้านบาท ตั้งเป้าให้บริการแก่ลูกค้าอย่างน้อย 50% ของพอร์ตภายใน 3 ปี 

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ธนาคารถือเป็นผู้ให้บริการไพรเวทแบงก์รายแรกในไทยที่ส่งมอบ “บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว (Family Wealth Planning Service)” และได้รับความสนใจจากลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีปัจจัยเร่งจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงด้านสุขภาพจากโรคระบาด ทำให้ครอบครัวผู้มีสินทรัพย์สูงเริ่มเห็นถึงความสำคัญของการวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการให้ทายาทรุ่นถัดไปได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการธุรกิจเร็วยิ่งขึ้น จากผลสำรวจโดย Lombard Odier พบว่า 45% ของครอบครัวที่ยังไม่ได้จัดทำธรรมาภิบาลของครอบครัวสนใจที่จะเริ่มวางแผนบริหารทรัพย์สินครอบครัวในอนาคต 

ทั้งนี้ ธุรกิจครอบครัวมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยพบว่ากว่า 3 ใน 4 ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นธุรกิจครอบครัว จากสถิติพบว่า 75% เป็นธุรกิจครอบครัวไทยที่อยู่ในการบริหารของรุ่นที่ 2 และมีเพียง 4% เท่านั้นที่อยู่ในการบริหารของรุ่นที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ธุรกิจครอบครัวไทยส่วนใหญ่ยังจัดตั้งมาไม่นานและกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในการเริ่มวางแผนเพื่อบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ  


นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Chief - Wealth Planning, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า KBank Private Banking ให้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัวอย่างครบวงจร เน้นให้ความรู้ที่แม่นยำและทันต่อเหตุการณ์ในโลกปัจจุบัน พร้อมด้วยประสบการณ์ระดับสากลของพันธมิตร Lombard Odier เพื่อช่วยลูกค้าในการวางแผน และอำนวยความสะดวกในการดำเนินการตามแผนที่ได้วางไว้ ปัจจุบัน ได้ให้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัวแก่ลูกค้ามาทั้งสิ้นประมาณ 3,600 ราย หรือคิดเป็นประมาณ 720 ครอบครัว ครอบคลุมทรัพย์สินครอบครัว ทั้งธุรกิจและที่ดินรวมมูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ พบว่าครอบครัวส่วนใหญ่ยังคงมุ่งเน้นการขยายธุรกิจมากกว่าการวางแผนและจัดการอย่างเป็นระบบ และส่วนใหญ่เผชิญกับความท้าทายและมีความต้องการที่คล้ายคลึงกันหลักๆ 3 ประการ ได้แก่ การหาความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจและการถือครองทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนด้านภาษีอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีปัจจัยเร่งที่สำคัญมาจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศเพื่อการเก็บภาษีที่เข้มงวดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย Foreign Account Tax Compliance Act (FATCA) ของสหรัฐฯ หรือระบบ Common Reporting Standard 

ดังนั้น ธนาคารจึงเน้นแนะนำให้ลูกค้าวางแผนเรื่องบริหารสินทรัพย์ของครอบครัวโดยคำนึงถึงต้นทุนทางภาษีที่ต้องแบกรับ และวางแผนป้องกันพร้อมรับมืออย่างเหมาะสม 
การบริหารจัดการระบบกงสีแบบดั้งเดิมเริ่มมีความท้าทายขึ้นในบริบทปัจจุบัน ซึ่งความยึดมั่นในขนบธรรมเนียมในการตัดสินใจเป็นหลัก หลายครอบครัวจึงเร่งปรับกติกาของกงสีให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ของครอบครัว อาทิ การจัดตั้งโครงสร้างที่เป็นระบบ โดยใช้กลุ่มบริษัทโฮลดิ้งของครอบครัว หรือการใช้ทรัสต์ที่จัดตั้งในต่างประเทศ เพื่อจัดเก็บและบริหารจัดการกงสีอย่างยั่งยืน พร้อมทั้ง วางแผนการด้านอื่นๆ ไปพร้อมกัน เช่น ในกรณีที่สมาชิกคนใดประสบปัญหาด้านการเงินส่วนตัว ก็ยังมีทรัพย์ที่ได้รับจากกองทรัสต์เพื่อเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวต่อไป รวมถึงระบบสวัสดิการสำหรับสมาชิกในครอบครัวได้อีกด้วย 

ทัศนคติและเป้าหมายที่แตกต่างกันของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะทายาทรุ่นที่ 2 และ 3 ที่มีโอกาสได้ไปศึกษาและใช้ชีวิตในต่างประเทศ รวมถึงมีแนวความคิดใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านได้ สิ่งที่สำคัญที่แนะนำแก่ลูกค้าคือ การเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่และการเปิดให้พวกเขามีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ 

นอกจากนี้ การวางกติกาครอบครัวซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกทุกรุ่นก็มีความจำเป็นที่ต้องอาศัยคนกลางที่มีประสบการณ์ในการวางแผนอย่างมีระบบ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในด้านการบริหารความมั่งคั่งยิ่งขึ้น KBank Private Banking จะเร่งยกระดับบริการทั้งในด้านกลยุทธ์ในการพัฒนาระบบติดตามผล เพื่อช่วยให้ครอบครัวสามารถวางแผนและดำเนินการบริหารสินทรัพย์ได้อย่างเป็นขั้นตอนและต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเตรียมเสริมบริการในด้านการทำสาธารณกุศลของครอบครัว และการอำนวยความสะดวกในเรื่องบริการสำนักงานครอบครัว (Family Office) อีกด้วย  

ขณะที่บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว ต้องใช้เวลาและความละเอียดในการกำหนดแผนการและข้อกำหนดของแต่ละครอบครัว เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่สมาชิกในครอบครัวทุกรุ่นทุกคนเห็นพ้องต้องกัน โดยธนาคารตั้งเป้าว่าจะให้บริการลูกค้าให้ครอบคลุม 50% ของลูกค้าทั้งหมด ภายใน 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่ให้บริการลูกค้าแล้วประมาณ 32%