Phones





คมนาคมพร้อมเปิดทดลองใช้รถไฟฟ้าสายสีแดง

2021-06-01 16:50:42 556



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – “ศักดิ์สยาม” คอนเฟิร์มเตรียมเปิดทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อภายในเดือนเดือนก.ค.นี้ ก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนพ.ย. 64
 
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ดำเนินการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเดินทางของระบบรางของประเทศเสร็จเรียบร้อย และเตรียมเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ (Soft Opening) ในช่วงเดือนก.ค.64 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ย.64
 
ทั้งนี้ เพื่อให้การเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการ เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด  จึงได้เร่งรัดการดำเนินการในด้านต่างๆ ดังนี้ 1. การเตรียมความพร้อมด้านการเดินรถของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งระบบ รวมทั้งการเชื่อมต่อการให้บริการระบบขนส่ง ประกอบด้วย การปรับลดจำนวนรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยวางแผนปรับลดขบวนรถไฟ เหลือเพียง 22 ขบวน โดยจะเริ่มปรับตารางเดินรถในวันที่ 1 ส.ค.64 รวมทั้งการปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทาง เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง โดยกรมการขนส่งทางบก และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ปรับปรุงเส้นทางรถโดยสารประจำทางเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางกับสถานีหลัก โดยจะปรับปรุงเส้นทางให้แล้วเสร็จก่อนการเปิดให้บริการแบบ Soft Opening ในเดือนก.ค.64
 
2. การเตรียมความพร้อมด้านสถานีของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ซึ่งได้ดำเนินการประกวดราคาหาผู้รับจ้างเพื่อปรับปรุงสถานีตลิ่งชัน บางบำหรุ บางซ่อน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขออนุมัติ ออกประกวดราคา ซึ่งคาดว่าจะได้ผู้รับจ้างภายในเดือนมิ.ย.64 และการจ้างบริการเตรียมความพร้อมการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อและสถานีรถไฟฟ้า 12 สถานี ประกอบด้วย งานจ้างทำความสะอาดและกำจัดขยะ งานจ้างบริการรักษาความปลอดภัยและจราจร งานจ้างบริหารจัดการงานอาคารและสถานที่บริเวณรถไฟฟ้าสายสีแดง งานจ้างบริการรักษาความปลอดภัยและทำความสะอาดอาคารและพื้นที่โดยรอบของโรงซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีแดงและทำความสะอาดขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดง งานจ้างติดตั้งระบบจัดการจราจรภายในบริเวณลานจอดรถสถานีกลางบางซื่อ และจัดเก็บค่าบริการจอดรถ
 
3. การเตรียมความพร้อมด้านการกำหนดจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารและสินค้า (Gateway/Hub) โดย รฟท. ได้ดำเนินการจัดทำแผนการปรับปรุงจุดเชื่อมต่อผู้โดยสาร และจุดเชื่อมต่อสินค้า โดยแบ่งแผนการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ปรับปรุงพื้นที่ทางเข้าสถานีรถไฟรังสิตทั้งทางฝั่งตะวันออก (รังสิต) และฝั่งตะวันตก (ปทุมธานี) ให้แล้วเสร็จก่อนการเปิดให้บริการ Soft Opening ในเดือนก.ค.64 นี้ และปรับปรุงพื้นที่จุดจอดรถอโศกให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนพ.ย.64 ระยะกลาง ปรับปรุงสถานีตลิ่งชัน เพื่อรองรับการหยุดขบวนของรถไฟทางไกลเพื่อเชื่อมต่อระบบเข้าสู่รถไฟฟ้าชานเมือง โดยคาดกว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 65
 
ระยะยาว พัฒนาสถานีเชียงรากน้อยและสถานีวัดสุวรรณ โดยออกแบบและก่อสร้างเป็นจุดเชื่อมต่อสำหรับการขนถ่ายสินค้า และการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าอย่างครบวงจร โดยคาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จประมาณกลาง 65 และก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณกลางปี 66 รวมถึงการออกแบบและก่อสร้างสะพานกลับรถบริเวณทิศใต้ของสถานีรังสิต เพื่อให้ระบบขนส่งสาธารณะสามารถเข้าถึงสถานีรังสิตทั้ง 2 ฝั่งได้โดยสะดวก โดยมีแผนการดำเนินการให้แล้วเสร็จในช่วงกลางปี 66 เช่นเดียวกัน
 
4. การเตรียมความพร้อมด้านราคาค่าโดยสารและบัตรโดยสาร ได้มอบหมายให้กำหนดอัตราค่าโดยสารของโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ให้เหมาะสม สอดคล้องตามต้นทุน โดยไม่เป็นภาระต่อค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน และไม่เป็นภาระทางการเงินของ รฟท. โดย รฟท. ได้ประมาณการต้นทุน ปริมาณผู้โดยสาร และความถี่การเดินรถ เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางให้มีความเหมาะสม รวมถึง พิจารณาแนวทางการปรับลดค่าใช้จ่ายและการส่งเสริมการเดินทางเพื่อเพิ่มรายได้ต่อไป
 
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้ระบบจัดเก็บค่าโดยสารรองรับตามมาตรฐานเทคโนโลยีบัตร EMV (Europay Mastercard and Visa) โดยให้จัดทำข้อมูลกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน งบประมาณที่คาดว่าจะใช้ รวมทั้งแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้สามารถเปิดใช้บริการได้ภายในปลายปี 64 และยังได้พิจารณาร่างข้อกำหนดการพัฒนาระบบบัตรโดยสาร หรือระบบตั๋วโดยสาร ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมข้อเสนอแนะและความเห็นเพิ่มเติม ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป และยังได้กำหนดแนวทางการจัดเก็บอัตราค่าแรกเข้าในการเดินทางเชื่อมต่อ
 
โดยการจัดเก็บค่าแรกเข้าแบบไม่ซ้ำซ้อน ระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและรถไฟชานเมืองสายสีแดง มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติม ประกอบด้วย เงื่อนไขการจัดเก็บค่าแรกเข้า กรณีที่ผู้โดยสารเปลี่ยนถ่ายระบบรวมถึงเงื่อนไขการจัดแบ่งและชดเชยค่าแรกเข้า ระยะเวลาในการเปลี่ยนถ่ายระบบ และกรณีเปลี่ยนถ่ายกับระบบรถไฟฟ้าที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของ รฟม. โดยการเดินทางเชื่อมระหว่างรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และรถไฟฟ้าสายสีชมพูในอนาคต อยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดวิธีการแบ่งรายได้และค่าใช้จ่ายร่วมกันก่อนเสนอต่อกระทรวงคมนาคมต่อไป
 
5. ด้านการสื่อสารสาธารณะ รฟท.ได้เปิดช่องทางในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารการดำเนินงาน และรับฟังความคิดของประชาชนผู้ใช้บริการ โดยประชาชนผู้ใช้บริการสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารความก้าวหน้าการดำเนินงานและแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ได้ทาง Facebook Fanpage : Bang sue Grand Station เพื่อกระทรวงฯ และ รฟท. จะได้นำมาใช้ในการปรับปรุงเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่ดีที่สุดต่อไป
 
นอกจากนี้ได้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มขึ้นอีก 2 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการฯ ด้านการพิจารณาดำเนินการขอพระราชทานชื่อโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และพิธีการที่เกี่ยวข้อง และคณะอนุกรรมการฯ ด้านการพัฒนาสถานีกรุงเทพ (สถานีหัวลำโพง) และพื้นที่ช่วงสถานีกลางบางซื่อ-สถานีกรุงเทพ เพื่อสาธารณประโยชน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ให้สามารถดำเนินการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยต่อไป