Phones





ttbตั้งสำรองฯสูงรับความเสี่ยงโควิด ฉุดกำไรหด8.9%

2021-07-20 16:02:03 359



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - ttb แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2/64 มีกำไรสุทธิจำนวน 2,534 ล้านบาท ลดลง 8.9% จากไตรมาสก่อนหน้า รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ระบาดเป็นวงกว้าง ด้านภารกิจรวมธนาคารเสร็จสมบูรณ์ตามแผน เร่งเดินหน้าให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ลูกค้า
 
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ttb เปิดเผยว่า ผลประกอบการของธนาคารในไตรมาส 2/64 ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ อยู่ที่ 8,502 ล้านบาท ลดลง 4.5% จากไตรมาสก่อน และยังคงตั้งสำรองฯ ในระดับสูงที่ 5,491 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 2,534 ล้านบาท ลดลง 8.9% จากไตรมาสที่ผ่านมา  
 
โดยตัวเลขสินเชื่อในไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 1,359 พันล้านบาท ชะลอลง 2.5% จากสิ้น 63 ซึ่งเป็นไปตามแผนของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างระมัดระวัง รวมถึงการชำระคืนหนี้ของลูกค้าบรรษัทธุรกิจ ในส่วนของเงินฝากอยู่ที่ 1,324 พันล้านบาท ชะลอลง 3.6% จากสิ้นปีที่แล้ว เป็นผลจากการปรับโครงสร้างเงินฝากภายหลังการรวมกิจการ โดยการปรับลดสัดส่วนเงินฝากประจำและแทนที่ด้วยเงินฝากที่เป็นผลิตภัณฑ์หลัก เช่น บัญชี ttb all free และบัญชี ttb no fixed ซึ่งยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริหารสภาพคล่องให้สอดคล้องกับภาวะสินเชื่อชะลอตัว
 
ทั้งนี้ จากกลยุทธ์ด้านเงินฝากและการบริหารสภาพคล่อง ส่งผลให้ธนาคารสามารถบริหารต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย หรือ NIM ในไตรมาส 2/64 ทรงตัวที่ 2.98% ใกล้เคียงกับ 3.00% ในไตรมาสก่อนหน้า และทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิทรงตัวที่ 12,782 ล้านบาท หรือลดลง 0.7% จากไตรมาสก่อน แม้อยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาลง
 
สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 3,118 ล้านบาท ลดลง 21.5% จากไตรมาส 1/64 สาเหตุหลักจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากผลิตภัณฑ์และบริการลูกค้ารายย่อยที่ลดลงหลังการระบาดระลอก 3 นำไปสู่การยกระดับมาตรการคุมเข้มต่าง ๆ สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจ โดยเฉพาะด้าน Trade finance มีสัญญาณดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนตามกิจกรรมนำเข้า-ส่งออกที่กลับมาฟื้นตัว
 
สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 7,402 ล้านบาท ลดลง 6.6% จากไตรมาสก่อน และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้อยู่ที่ 46.4% ค่าใช้จ่ายที่ลดลงนี้เป็นผลจากการรับรู้ประโยชน์ด้านต้นทุนจากการรวมกิจการ การมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเลื่อนจัดกิจกรรมการตลาดที่เกี่ยวข้องกับการรวมกิจการไปในช่วงครึ่งปีหลังเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น ในไตรมาสถัด ๆ ไป อาจเห็นการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้แต่จะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย
 
ในส่วนของความเพียงพอของเงินกองทุนยังก็อยู่ในระดับสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมธนาคารไทย โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/64 อัตราส่วน CAR และ Tier I (เบื้องต้น) ทรงอยู่ที่ 19.6% และ 15.5%
 
ทั้งนี้ เศรษฐกิจในไตรมาส 2/64 มีความท้าทายมากขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเม.ย. ซึ่งรุนแรงมากกว่าการระบาดที่เกิดขึ้นในไตรมาส 1/64 สำหรับทีเอ็มบีธนชาตนั้น มีภารกิจสำคัญในเรื่องการรวมธนาคาร ซึ่งแม้จะเผชิญกับข้อจำกัดจากสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่อง แต่จากการเตรียมงานและความทุ่มเทของพนักงานก็ทำให้ภารกิจรวมธนาคารเสร็จสมบูรณ์ได้เมื่อวันที่ 5 ก.ค.64 ที่ผ่านมา เป็นไปตามกรอบระยะเวลา 18 เดือนที่วางไว้
 
ในส่วนของการดำเนินงานในไตรมาส 2/64 ธนาคารยังคงเน้นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ไม่เร่งการเติบโตสวนทางแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง เนื่องจากไม่ต้องการสร้างความเสี่ยงเพิ่มเติม จุดประสงค์หลักก็เพื่อรักษาและคงความแข็งแกร่งทางการเงินไว้ให้พร้อมสำหรับการเติบโตเมื่อเศรษฐกิจเอื้ออำนวย
 
อย่างไรก็ตาม แม้มีแรงกดดันด้านรายได้แต่เป้าหมายหลักด้านอื่น ๆ ธนาคารยังคงทำได้ดีตามแผน ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ผลประโยชน์จากการรวมกิจการ โดยเฉพาะจากด้านงบดุล (Balance sheet synergy) และด้านต้นทุน (Cost synergy) การมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย และการดูแลคุณภาพสินทรัพย์