Phones





EXIM BANKหวังปั้นSMEขึ้นสู่ตลาดส่งออก

2021-08-04 16:51:31 281



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - EXIM BANK วางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจช่วงที่เหลือของปี 64 เน้นการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ พร้อมผลักดัน SME ให้ก้าวสู่การเป็นผู้ส่งออกมากขึ้น ลุยพัฒนา Pavilion ช่วยผู้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์  
 
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ ธนาคารจะใช้กลยุทธ์ด้วยการพัฒนา 4 ปัจจัยสู้วิกฤตโควิด-19 ควบคู่กับการตอบโจทย์โลกวิถีใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของภาคส่งออกและเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 64 ได้แก่ 1. พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ โดยธนาคารจะเป็น Lead Bank สนับสนุนการลงทุนทั้งในและต่างประเทศในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น พลังงานทดแทน พาณิชย์นาวีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมสีเขียว ดิจิทัล และสุขภาพ (Green, Digital, Health : GDH)
 
2. พัฒนา SMEs ให้เป็นผู้ส่งออกรายใหม่เพิ่มมากขึ้น จากจำนวนผู้ส่งออก SMEs ของไทยในปัจจุบันมีไม่ถึง 1% ของ SMEs ทั้งประเทศซึ่งมีจำนวน 3.1 ล้านราย โดยธนาคาร พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำและอบรมบ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs ในทุกระดับ ผ่านกิจกรรมของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าของ EXIM BANK (EXIM Excellence Academy : EXAC) รวมทั้งให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะทำให้ SMEs เข้าสู่ธุรกิจส่งออกได้ทันที เช่น สินเชื่อเครือข่ายครบวงจร (EXIM Supply Chain Financing Solution) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ SMEs ที่เป็น Suppliers ของผู้ประกอบการรายใหญ่โดยไม่ต้องใช้หลักประกันเพิ่ม
 
3. พัฒนา Pavilion สำหรับการค้าออนไลน์ ภายใต้ชื่อ “EXIM Thailand Pavilion” เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยรายเล็กซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าถึงช่องทางดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นวิธีการค้าขาย การโพสต์สินค้า ตลอดจนขีดจำกัดด้านเงินทุน มีโอกาสค้าขายกับคู่ค้าในต่างประเทศทางออนไลน์ได้อย่างประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้รับการสนับสนุนทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงินจากธนาคารและหน่วยงานพันธมิตรควบคู่ไปด้วย
 
4. พัฒนาผลิตภัณฑ์ครบวงจรเพื่อเสริมสภาพคล่องและป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ไทย รวมทั้งมาตรการพักหนี้ และ เติมทุน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและผู้ประกอบธุรกิจส่งออกและเกี่ยวเนื่อง ผู้นำเข้า และนักลงทุนจากผลกระทบของโควิด-19 ตามนโยบายของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
 
สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารในช่วง 7 เดือนแรกของปี 64 มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 140,600 ล้านบาท ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 3.89% โดยธนาคารวางเป้าหมายที่จะควบคุม NPL ทั้งในสิ้นปีนี้ไม่ให้เกินกว่าระดับ 4% ซึ่งจะมีทั้งการบริหารจัดการด้วยตัวเอง และอาจมีการพิจารณาตัดขาย NPL บางส่วนออกไป หากได้ราคาที่เหมาะสม รวมทั้งมีลูกหนี้บางรายที่ได้รับการค้ำประกันจาก บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็มีความสามารถที่จะกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ
 
ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 64 หลายหน่วยงานคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 1% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจาก ภาคการส่งออก ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า สะท้อนจากตัวเลขการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาที่ขยายตัวได้ถึง 15.5% และคาดว่าตัวเลขการส่งออกทั้งปีนี้จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10%
 
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยลบที่ยังต้องติดตาม คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 การขาด แคลนวัตถุดิบและตู้คอนเทนเนอร์สำหรับธุรกิจส่งออก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดความชะงักงันของกิจการ Logistics ที่มีผู้ติดเชื้อและการตรวจสอบที่เข้มงวด จนทำให้จำนวนตู้คอนเทนเนอร์กลับเข้าสู่ภาวะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน