Phones





FETCO คาดดัชนีเชื่อมั่น 3 เดือนหน้าอยู่ 102.74

2019-09-11 14:31:35 220




นิวส์ คอนเน็คท์ - FETCO คาดดัชนีความเชื่อมัน 3 เดือนหน้าปรับตัวลดลง 21.70% แต่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว หลังเทรดวอร์กระทบ - นักลงทุนกังวลผลงาน บจ. และภาวะเศรษฐกิจไทย ลุ้นเฟดขึ้นดอกเบี้ย - รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ


นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะปรับตัวลดลง 21.70% มาอยู่ที่ระดับ 102.74 แต่ถือว่าลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว เป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศทวีความรุนแรงขึ้น จากการประกาศตอบโต้เพิ่มอัตราภาษีทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ รวมถึงความกังวลผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและภาวะเศรษฐกิจในประเทศ


อย่างไรก็ตาม ทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า รอติดตามความเชื่อมั่นนักลงทุนจะได้รับปัจจัยหนุนจากนโยบายการเงินของสหรัฐ จากการคาดหวังการลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มในปี 62 และ 63 รวมถึงนโยบายจากภาครัฐบาลออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการประกาศตัวเลขการส่งออกที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้


สำหรับในช่วงเดือนสิงหาคม 62 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ปรับตัวเคลื่อนไหวลดลงค่อนข้างมาก จากระดับสูงสุดช่วง 1,700 จุด ในต้นเดือนและพักตัวอยู่ระดับต่ำสุด 1,590 จุด ในช่วงกลางเดือน ก่อนฟื้นตัวและทะยอยปรับเคลื่อนไหวในระดับ 1,640-1,650 จุด ในช่วงปลายเดือน


ทั้งนี้กลุ่มที่นักลงทุนสนใจลงทุนมากที่สุด ได้แก่ หมวดพาณิชย์ (COMM) หมวดพลังงานและสาธารนูปโภค (ENERG) และหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) ส่วนหมวดที่ไม่น่าสนใจ ได้แก่ หมวดธนาคาร (BANK) และหมวดชิ้นส่วนอิเล็ทรอนิกส์ (ETRON)


สำหรับดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนกันยายนนี้ อยู่ที่ระดับ 44 ลดลงเล็กน้อยจากครั้งที่แล้ว แต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน (Unchanged)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าการประชุม กนง. ในเดือนกันยายนนี้ จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.50 ต่อไป โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง อัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และ Fund flow จากต่างชาติที่ลดลง เป็นปัจจัยกำหนดที่สำคัญ


ส่วนดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ในรอบการประชุม กนง. พฤศจิกายน 2562 (ประมาณ 9 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 25 และ 22 ตามลำดับ  ลดลงจากครั้งที่แล้ว แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน (Unchanged)” ซึ่ง Bond yield 5 ปีอยู่ที่ระดับ 1.48% และ Bond yield 10 ปีอยู่ที่ 1.54% ณ วันที่ทำการสำรวจ (23 ส.ค. 62) โดยปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่มีแนวโน้มลดลง อุปสงค์อุปทานในตลาดตราสารหนี้ และ Fund flow จากต่างชาติ