Phones





SCB ประเมินจีดีพีปี64มีแววติดลบ แนะรัฐเร่งใส่เงินฟื้นฟู

2021-09-15 19:08:21 488



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - SCB ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของไทยปี 64 เหลือโต 0.7% จากเดิม 0.9% รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ฉุดการใช้จ่ายภาคเอกชน และการท่องเที่ยว ขณะที่ประเมินจีดีพีปี 65 มีโอกาสกลับมาขยายตัว 3.4%
 
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 64 เหลือ 0.7% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 0.9% โดยมีสาเหตุหลักจากผลของการระบาดในประเทศรอบล่าสุดที่รุนแรงมากกว่าคาด ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเดินทางเข้าไทยน้อยกว่าเดิมตามความกังวลที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ระบาดในประเทศ สะท้อนได้จากหลายประเทศที่มีการประกาศให้ไทยเป็นประเทศความเสี่ยงสูงด้านการระบาดโควิด-19 เช่น สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร จึงมีการปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเหลือ 1.7 แสนคน จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3 แสนคน
 
ขณะที่การใช้จ่ายของภาคเอกชนก็ได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดในประเทศ และมาตรการล็อกดาวน์เช่นกัน สะท้อนจากดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนก.ค.ที่หดตัวถึง 8.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน รวมถึงการลงทุนก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดแคมป์คนงานในช่วงเดือนกรกฎาคม โดยแม้ว่าจะกลับมาดำเนินการได้แล้ว แต่มาตรการ Bubble and seal ก็ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น และทำงานได้ไม่เต็มศักยภาพ
 
ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศจากการระบาดจะมีมากสุดในช่วงไตรมาส 3 ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงต้นไตรมาส 4 จากแนวโน้มการฉีดวัคซีนครบโดสของประชากรที่จะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นและการกลับมาดำเนินการของกิจกรรมเศรษฐกิจ
 
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยปี 64 ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคส่งออก และ เม็ดเงินภาครัฐ โดยภาคส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่อัตราเติบโตจะชะลอลงในช่วงที่เหลือของปี จากฐานของปีก่อนหน้าที่สูงขึ้น ประกอบกับ เศรษฐกิจโลกที่มีการสะดุดตัวจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตาทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน
 
ขณะที่ ปัญหาด้าน Supply chain disruption ที่อาจเกิดขึ้นจากทั้งการปิดโรงงานในประเทศ และการหยุดการผลิตในประเทศคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน ในส่วนของภาครัฐยังมีการเบิกจ่ายต่อเนื่องจากทั้งในงบประมาณ และ จากหลายมาตรการช่วยเหลือแต่มาตรการที่มียังไม่เพียงพอ ทั้งในเชิงพื้นที่ที่ช่วยเหลือรายได้นายจ้างและลูกจ้างเพียง 29 จังหวัดที่โดนล็อกดาวน์ ในส่วนของผลกระทบกระจายตัวไปยังทั่วประเทศ, เชิงระยะเวลาที่ช่วยเหลือรายได้เพียง 1-2 เดือน ขณะที่ผลกระทบลากยาวอย่างน้อย 6 เดือนตั้งแต่เดือนเมษายน และ เชิงเม็ดเงินที่มีมาตรการช่วยเหลือจากการโอนเงินโดยตรงเพียง 2 แสนล้านบาท
 
ทั้งนี้ EIC ประเมินผลกระทบการระบาดรอบ 3 มีมากถึง 8.5 แสนล้านบาท ดังนั้น EIC จึงคาดว่าภาครัฐจะต้องออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี โดยจะเป็นการใช้เม็ดเงินจนหมด พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และอีก 2 แสนล้านบาท จาก พรก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท
 
สำหรับปี 65 คาดเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ที่ 3.4% จากการฟื้นตัวจากทั้งอุปสงค์ภายในและนอกประเทศ ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนที่มากขึ้น โดยอัตราการฉีดวัคซีนที่มากขึ้นทั่วโลกในปีหน้าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร่งขึ้นจากปีก่อน ซึ่งทำให้การส่งออกไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลงมาที่ 4.7%
 
นอกจากนี้ ภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศก็มีแนวโน้มฟื้นตัวเช่นกัน โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นเป็น 6.3 ล้านคน ด้านเศรษฐกิจในประเทศ มีแนวโน้มฟื้นตัวเช่นกันจากอัตราการฉีดวัคซีนที่คืบหน้า โดยในช่วงไตรมาสแรกปี 65 อาจมีผู้ได้รับวัคซีนครบโดสถึง 70-80% ของประชากร ซึ่งส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจ
 
อย่างไรก็ตม แม้การใช้จ่ายและการบริโภคภาครัฐจะมีแนวโน้มหดตัวตามกรอบงบประมาณที่ลดลง แต่การลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มขยายตัวจากเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจในโครงการเมกะโปรเจกต์ และ อัตราเบิกจ่ายปี 64 ที่ต่ำจากมาตรการปิดแคมป์คนงานที่จะกลับมาเร่งตัวในปีหน้า นอกจากนี้ ยังคาดว่าภาครัฐจะใช้เงินที่เหลือราว 3 แสนล้านบาทจาก พรก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปี 65
 
“จีดีพีปีนี้มีโอกาสที่จะติดลบ 0.5% ได้ หากเกิดการระบาดโควิดรุนแรง หรือ การระบาดรอบใหม่ จนนำไปสู่การล็อกดาวน์ในไตรมาส 4 ได้ รวมทั้งหากภาครัฐไม่ใส่เงินเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยา หรือ การฟื้นฟู เพื่อกระตุ้นในไตรมาส 4 นี้ จำนวน 2 แสนล้านบาท จากพรก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็อาจทำให้จีดีพีปีนี้ติดลบได้ ในขณะที่การส่งออกปีนี้คาดขยายตัว 15% โดย 7 เดือนขยายตัว 19% ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลง ในขณะที่ปีหน้าคาดขยายตัว 4.7% โดยการขยายตัวที่ลดลงมาจากฐานที่สูงในปีนี้” ดร.ยรรยง กล่าว