Phones





UBE เคาะราคาIPOที่2.40บ. จ่อเทรดSETวันที่30ก.ย. นี้

2021-09-17 12:57:14 727



นิวส์ คอนเน็คท์ - UBE เคาะราคาไอพีโอ 2.40 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อ 21-23 ก.ย. นี้ จ่อเข้าเทรด SET วันที่ 30 ก.ย. 64 หวังนำเงินขยายธุรกิจแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิค-ผลิตผลิตภัณฑ์สารให้ความหวาน

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 นางยอดฤดี สันตติกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่าย บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE เปิดเผยว่า ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ราคา 2.40 บาทต่อหุ้น โดยเตรียมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อหุ้น IPO ในวันที่ 21-23 ก.ย. 64 และคาดว่าจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนและซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 30 ก.ย. นี้

โดยปัจจุบัน UBE มีทุนจดทะเบียน 3,914,286,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 3,914,286,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาทต่อหุ้น โดยมีทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วจำนวน 2,740,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 2,740,000,000 หุ้น และจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 1,370,000,000 หุ้น ประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทจำนวนไม่เกิน 1,174,286,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บริษัท ไทยออยล์ เอทานอล จำกัด จำนวนไม่เกิน 97,857,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) จำนวนไม่เกิน 97,857,000 หุ้น 

ทั้งนี้ จำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมดไม่เกิน 35% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการรระดมทุน ไปลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดการใช้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

ด้านนายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ UBE กล่าวว่า บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อขยายธุรกิจแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิค ซึ่งปัจจุบันมีการผลิต 4 หมื่นตันต่อปี จะเพิ่มเป็น 1 แสนตันต่อปี ภายใน 5 ปีข้างหน้า (64-68) และจะลดการผลิตแป้งมันสำปะหลังแบบทั่วไป (Cassava Starch) จากปัจจุบันผลิตอยู่ 1.1 แสนตันต่อปี เหลือเพียง 4-5 หมื่นตันต่อปี เนื่องจากอัตรากำไรต่อหน่วยการขายจากธุรกิจผลิตแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิคสูงกว่า 3 เท่า รวมถึงการขยายโครงการลงทุนเพื่อเพิ่มสายการผลิตผลิตภัณฑ์สารให้ความหวาน เช่น ไซรัป (Syrup) และมอลโทเดกซ์ทริน (Maltodextrin) ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพตามเทรนด์การบริโภคอาหารแห่งอนาคต 

สำหรับธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันมีการผลิตและจำหน่ายสินค้ากาแฟออร์แกนิค และข้าวออร์แกนิคที่ได้รับมาตรฐานออร์แกนิกสากล เพื่อเน้นส่งออกไปยังต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งในปี 65 บริษัทมีแผนนำกาแฟ และข้าวออร์แกนิคมาพัฒนาเป็นแบรนด์ของตัวเอง เพื่อต่อยอดไปสู่จุดหมายการเป็นผู้นำด้านเกษตรอินทรีย์ 

ส่วนธุรกิจเอทานอล ยังคงมีรายได้จากการจำหน่ายเอทานอลที่เพิ่มต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิต 400,000 ลิตรต่อวัน หรือ 146 ล้านลิตรต่อปี อีกทั้งบริษัทมีการกระจายฐานผู้ค้าน้ำมันให้หลากหลายมากขึ้นในการจำหน่ายเอทานอลเกรดเชื้อเพลิง ประกอบกับมีรายได้จากการจำหน่ายเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมจากการได้รับอนุญาตเป็นการชั่วคราวจากภาครัฐให้สามารถจำหน่ายเอทานอลเกรดอุตสาหกรรม