Phones





KBANK ประเมินศก.ไทยผ่านจุดต่ำสุดไตรมาส3/64

2021-10-21 18:12:39 723



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - KBANK ประเมินเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 4/64 หลังผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 3/64 แต่คาดจัวเลขจีดีพีทั้งปี 64 ติดลบ 0.5%
 
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/64 ประเมินว่าตัวเลขจีดีพีจะติดลบ 4.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และติดลบ 3.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน
 
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าตัวเลขจีดีพีของไทยจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4/64 โดยคาดว่าจะเติบโต 2.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/64 แต่ยังติดลบ 2.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน แต่ภาพรวมตัวเลขจีดีพีทั้งปี 64 ประเมินว่าจะยังคงติดลบ 0.5% เมื่อเทียบกับปี 63
 
“เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 อาจเป็นจุดต่ำสุดแล้ว ดีไม่ดีอาจเป็นไตรมาสแรกที่ผ่านมาด้วยซ้ำ ตอนนี้ทิศทางเศรษฐกิจพยายามปรับไปสู่เส้นศักยภาพ แต่ต้องใช้เวลา ความคาดหวังไปอยู่ที่การท่องเที่ยว แต่ความเสี่ยงยังมีอยู่มาก โดยมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะถดถอยในรอบ 12 เดือนข้างหน้าสูงขึ้น โอกาสตอนนี้มีมากขึ้น 30% จากก่อนหน้านี้ 22% ให้ดูว่ามาตรการทางการที่ออกมาพิสูจน์ว่าได้ผลจริง เช่น การเปิดเมือง”นายกอบสิทธิ์ กล่าว
 
นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระยะถัดไป จึงทำให้ปัจจุบันดอกเบี้ย 2 ปี อยู่ที่ 0.7% และ 10 ปี อยู่ที่ 1.9% ซึ่งยังต้องติดตามธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ที่จะดำเนินนโยบายการเงินในเรื่องผ่อนคลาย QE ในระยะต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม ยังคาดว่าทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มลด QE ภายในพ.ย. นี้ ก่อนใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย โดยหลังจากการรับข่าวการลด QE ของเฟด จะมีการปรับฐานในตลาดการเงิน ซึ่งน่าจะทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ก่อนสิ้นปี โดยยังคงเป้าหมายค่าเงินบาทไว้ที่ 32.75 บาท/ดอลลาร์ ภายในสิ้นปีนี้
 
สำหรับการส่งออกไทยในช่วงนี้เริ่มชะลอลง จากในช่วงก่อนหน้านี้ส่งออกขยายตัวมาก เพราะฐานที่ต่ำในปีก่อน ซึ่งหลังจากนี้ต้องติดตามการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยที่รัฐบาลประกาศจะเริ่มในวันที่ 1 พ.ย.นี้ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งยังมีความเสี่ยงการระบาดรอบใหม่ และ ต่างประเทศจะเดินทางท่องเที่ยวแล้วหรือไม่ ประกอบกับ ยังมีปัญหาเรื่องค่าขนส่งทางเรือที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อรายได้ด้านบริการ และ ราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งทั้งหมดได้กระทบให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล