Phones





KBank Private Banking และ Lombard Odier มองศก.โลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 66

2022-11-02 19:25:59 250



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier และศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 66 ชะลอตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยจากจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด ขณะที่จีนยังคงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ และส่งสัญญาณเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งวิกฤตราคาพลังงานที่ยังพุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องในยุโรป
 
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ตลอดปี 65 ตลาดลงทุนมีความกังวลต่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง กดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบรุนแรงและรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนลากยาวต่อเนื่องและยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลง ราคาพลังงานในยุโรปขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น
 
ขณะเดียวกัน จีนแม้ยังไม่มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยเหมือนกับประเทศอื่นๆ แต่นโยบายการเปิดประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไป และการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังมีแนวโน้มจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้แต่ก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ KBank Private Banking ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนแนะให้ลูกค้ากระจายการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด ทั้งหุ้นนอกตลาด ตราสารหนี้ และอสังหาริมทรัพย์นอกตลาดเพื่อลดความผันผวนของพอร์ต นอกจากนั้นยังแนะนำลดสัดส่วนของกองทุนรวมหุ้น และถือเงินสดเพิ่มเติมราว 5-15% ของพอร์ต เพื่อลดความผันผวน และรอจังหวะเข้าลงทุนในอนาคตเมื่อสถานการณ์ชัดเจนขึ้น
 
ทั้งนี้ ธนาคารยังคงแนะนำกระจายการลงทุนในหลายๆ สินทรัพย์ผ่านกองทุนผสมเพื่อลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตลง โดยกองทุนผสมอย่าง K-ALLROAD Series ที่ได้เปิดตัวไปตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้า ด้วยสภาพตลาดการลงทุนในปัจจุบัน ธนาคารยังแนะนำให้ลูกค้ากระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เช่น กองทุนหุ้นนอกตลาด (Private Equity Fund) ซึ่งกองทุนที่ธนาคารแนะนำสามารถสร้างผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุนที่ดีให้กับพอร์ตลูกค้าได้สูงถึง 47.83% และ 25.67% นอกจากนี้ ธนาคารยังได้แนะนำกองทุนด้านความยั่งยืน อย่าง K-CLIMATE โดยผลการดำเนินงานตั้งแต่จัดตั้งกองทุน Master funds ให้ผลตอบแทนที่ 16.15% ต่อปี   
 
โดยในปี 66 ธนาคารยังมีแผนที่จะแนะนำผลิตภัณฑ์ทางเลือกการลงทุนอื่นอย่างต่อเนื่อง อาทิ กองทุนรวมตราสารหนี้นอกตลาด กองทุนรวมหุ้นนอกตลาด และกองทุนอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพื่อสร้างผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจให้กับพอร์ตการลงทุนของลูกค้าได้ในปี 66   
 
ด้านดร.เชาว์ เก่งชน Executive Chairman ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า เมื่อเศรษฐกิจหลักของโลกเผชิญภาวะถดถอย เศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการส่งออกที่ต้องเผชิญกับการเติบโตที่ลดลงในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ในด้านการเติบโตของ GDP จะขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ช่วยประคองให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทายจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกที่คาดว่าจะต่ำตลอดปี 66 ทำให้เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนทางสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 67 รวมถึงปีต่อๆ ไปด้วย
 
ขณะที่ Lombard Odier มีมุมมองเศรษฐกิจโลกโดยมี 3 ประเด็นสำคัญได้แก่ 1.การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เพื่อสกัดเงินเฟ้อสหรัฐฯ เป้าหมายสำคัญของเฟดคือการทำให้เงินเฟ้อสหรัฐฯปรับตัวลงมาอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ โดยการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด มีโอกาสสูงที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย จากการประเมินของ Lombard Odier เชื่อว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในเดือน พ.ย. และอีก 0.5% ในเดือน ธ.ค. และจบด้วยการขึ้น 0.25% ในเดือน ก.พ. ปีหน้า ซึ่งจะเป็นจุดสูงสุดของดอกเบี้ยในวัฏจักรรอบนี้ที่ 4.75% ด้านแนวโน้มเงินเฟ้อ Lombard Odier เชื่อว่าจะค่อยๆ ปรับตัวลงมาอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ภายในกลางปีหน้า โดยปัญหาห่วงโซ่อุปทานล่าช้า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และค่าใช้จ่ายการขนส่งที่ดูดีขึ้น จะทำให้เงินเฟ้อที่มาจากราคาสินค้าปรับตัวลง
 
นอกจากนี้ ตลาดอสังหาที่ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านที่สูงขึ้นประกอบกับราคาบ้านที่สูงขึ้น เริ่มกดดันให้ความต้องการซื้อบ้านชะลอลง แต่ยังต้องจับตา 2 ตัวแปรสำคัญ คือ (1) เงินเฟ้อที่มาจากราคาบริการยังไม่คลี่คลาย และ (2) ตลาดแรงงานแม้ว่าจะมีการปรับตัวลงมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูง ทั้งนี้ อัตราการว่างงานต้องสูงขึ้นกว่านี้ เพื่อดึงให้เงินเฟ้อให้ปรับลดลงอีก อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานรวมถึงความแข็งแกร่งภาคธนาคาร ภาคครัวเรือน และภาคเอกชนในปีนี้ แตกต่างจากการเกิดวิกฤตในปี 2551 Lombard Odier จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตทางการเงินได้ แม้ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม
 
ประเด็นที่ 2. คือ จีน ต่อเนื่องจากการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป Lombard Odier เชื่อว่าจีนยังต้องการผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต หลัง ปธน.สี จิ้น ผิง รวบรวมอำนาจเบ็ดเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว โดย Lombard Odier มองว่ามี 2 เส้นทางที่จะผลักดันให้จีนเติบโตได้ คือ (1) การเปิดประเทศ ซึ่งจีนเลือกที่เปิดประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยจะเห็นแนวโน้มชัดเจนขึ้นในปีหน้า และ (2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง นอกเหนือจากนี้ ยังมีนโยบายการเงินที่ยังช่วยหนุนอยู่ ด้วยเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จีนจึงเป็นประเทศเดียวที่อยู่ในทิศทางการลดดอกเบี้ย ซึ่งเป้าหมายก็คือการประคับประคองภาคอสังหาฯ โดยเร่งการปล่อยสินเชื่อบ้าน ซึ่งเพียงพอให้จีนสามารถหลีกเลี่ยงฮาร์ดแลนด์ดิ้ง และหนุนให้แนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสต่อจากนี้ให้ดีขึ้นได้
 
ประเด็นที่ 3 คือ วิกฤตราคาพลังงานในยุโรป จากการที่ราคาพลังงานในยุโรปพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาพลังงานเริ่มปรับตัวลงแล้ว โดยมีหลายปัจจัยที่กระทบต่อความผันผวนของราคาพลังงานในยุโรป ไม่ว่าจะเป็น อากาศที่ไม่ได้หนาวมากในยุโรป ทำให้ภาคครัวเรือนยังไม่ได้ต้องการใช้พลังงานในการทำความร้อน นอกจากนี้ รัฐบาลต่างๆ ในยุโรป ก็มีความพยายามในการกักเก็บพลังงานสำรอง กระจายแหล่งที่มาของพลังงาน อาทิ การขยายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน และที่สำคัญที่สุดคือการหันมาใช้พลังงานทางเลือกให้มากขึ้น โดย Lombard Odier มองว่านโยบายของยุโรปโดยรวม แม้ว่าจะไม่สามารถทำให้หลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ แต่อย่างน้อยก็น่าจะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดได้