Phones





SCBส่องศก.63โต2.7% - บาทแข็งค่ากดดันส่งออก

2020-01-17 14:46:19 1980




นิวส์ คอนเน็คท์ – EIC SCB ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 63 เติบโต 2.7% รับแรงส่งจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก หลังปัจจัยกดดันจากสงครามการค้าเริ่มลดลง ขณะที่เงินบาทยังอยู่ในทิศทางแข็งค่า คาดกรอบเงินบาทสิ้นปี 63 เคลื่อนไหวที่ระดับ 29.50-30.50 บาทต่อดอลลาร์


เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563 ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center(EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน หรือ SCB เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 63 ทาง EIC คาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวได้ในระดับ 2.7% ฟื้นตัวเล็กน้อยจากปีก่อนที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ระดับ 2.5% โดยเป็นไปตามการฟื้นตัวของภาคส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากภาวะการค้าโลกที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นบ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบรรลุข้อตกลงทางการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐฯ และจีน (Phase 1) ที่จะนำไปสู่การยกเลิกและลดภาษีสินค้านำเข้าบางส่วน


นอกจากนี้ แนวนโยบายการเงินและการคลังของหลายประเทศทั่วโลกที่มีทิศทางผ่อนคลายเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ แต่ปัจจัยที่ยังเป็นอุปสรรคของการส่งออกของไทยคือการแข็งค่าของเงินบาท โดยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาพบว่าเงินบาทมีการแข็งค่าสะสมถึง 24% เมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่ง และยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับแข็งค่าต่อเนื่อง จะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อรายได้ผู้ส่งออกในรูปเงินบาท และความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกไทย รวมถึงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง


ทั้งนี้ EIC ได้ประเมินทิศทางค่าเงินบาทในช่วงสิ้นปี 63 จะอยู่ในกรอบ 29.50 – 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นไปตามแรงกดดันของดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่ยังคงมีการเกินดุลในระดับสูง ขณะที่การเปิดเสรีการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติมทั้งด้านการทำธุรกิจและการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศจะมีส่วนลดแรงกดดันค่าเงินบาทได้ค่อนข้างจำกัดในระยะสั้น และต้องใช้เวลาในการลดข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง เช่น การเพิ่มความรู้ความเข้าใจทางการเงิน การยกระดับความสามารถ
ในการลงทุนต่างประเทศ รวมไปถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ยังเป็นอุปสรรค จึงจะทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกในระดับสูง และสามารถลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทอย่างมีนัย


สำหรับภาวการณ์เงินในประเทศ ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องตลอดทั้งปี 63 โดย EIC คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังใช้นโยบายการเงินในระดับผ่อนคลายต่อเนื่องเพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดย กนง. มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.25% ตลอดทั้งปี 63 อย่างไรก็ตาม กนง.อาจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีก 1 ครั้งในปีนี้ หากเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่คาด แต่คงเป็นการปรับลดไม่มากนัก เนื่องจากระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันถือว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำมากเมื่อเทียบกับอดีต


อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยปี 63 จะมี 3 ปัจจัย ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสงครามการค้า ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ด้านสงครามการค้า แม้ล่าสุดจะมีข้อตกลงการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจกระทบต่อการค้าโลกได้ ขณะที่ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical risks) โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ การประท้วงที่ยืดเยื้อในฮ่องกง และประเด็น Brexit ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก


ในส่วนของความเสี่ยงภายในประเทศ คือ ความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้ในระดับสูงและการสร้างรายได้ถูกกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี (technology disruption) และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews