Phones





SCB EIC แนะผู้ประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวรับมือภาษีทรัมป์

2025-07-08 17:16:39 67



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – SCB EIC ประเมินสหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ โดยมีอัตราภาษีสูงสุดถึง 50% ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยใน 5 กลุ่มสินค้า คาดการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 68 จะหดตัว 1.9% แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากมาตรการภาษีทรัมป์
 
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 นางสาวจิรภา บุญพาสุข นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯ ได้เริ่มทยอยประกาศใช้นโยบายภาษีนำเข้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยเริ่มโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาษีนำเข้า 10% จากสินค้าทุกประเทศ (Universal tariffs) และภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ที่อยู่ระหว่างเลื่อนการบังคับใช้ออกไป 90 วัน จนถึงวันที่ 9 ก.ค. 2568 นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ออกประกาศมาตรการภาษีเฉพาะสินค้า (Specific tariffs) ออกมาอย่างต่อเนื่อง
 
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ออกประกาศมาตรการภาษีเฉพาะสินค้าเพิ่มเติม โดยขยายขอบเขตให้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง (Derivative products) ที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ ซึ่งรวมถึงสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้ HS code 84 และ 85 รวม 10 รายการ เช่น เครื่องซักผ้า, ตู้เย็น, เครื่องอบผ้า และเครื่องล้างจาน เป็นต้น โดยทุกประเทศจะถูกเก็บภาษีสูงสุดถึง 50% ตามสัดส่วนของมูลค่าเหล็กที่ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ ยกเว้นสหราชอาณาจักร (UK) ที่อยู่ระหว่างได้รับการผ่อนผันให้เสียภาษี 25% และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ส่วนประกอบของเหล็กที่หลอมในสหรัฐฯ จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็น 0% ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2025 ที่ผ่านมา โดยการปรับขึ้นภาษีในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ และลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าทุน เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม เป็นต้น
 
โดยมาตรการภาษีระลอกใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยทั้งหมด 5 รายการ ได้แก่ ตู้เย็น (HS CODE 8418.10), ตู้แช่แข็ง (HS CODE 8418.40), เครื่องอบผ้าขนาดใหญ่ (HS CODE 8451.29), เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ (HS CODE 8450.20) และเครื่องล้างจาน (HS CODE 8422.11) ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ รวมกัน 153.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2024 คิดเป็นสัดส่วนราว 4.1% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีครั้งนี้ค่อนข้างสูง ได้แก่ เครื่องล้างจาน, เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ และตู้เย็น เนื่องจากมีสัดส่วนการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ อยู่ที่ 56%, 28% และ 13% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในแต่ละหมวดสินค้า ตามลำดับ
 

ทั้งนี้ SCB EIC มองว่าการปรับขึ้นภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทย ทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น และจะต้องมีการพิจารณาโครงสร้างต้นทุนใหม่ทั้งหมดสำหรับสินค้าในรายการที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษี นอกจากนี้ อัตราภาษีที่สูงขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าที่ผู้บริโภคสหร้ฐฯ ต้องจ่ายแพงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังยอดคำสั่งซื้อสินค้าจากไทยและแนวโน้มการส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย SCB EIC คาดว่ามูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยในปี 2568 มีแนวโน้มหดตัว 1.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องที่ 2.1% ในปี 2569 จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและผลกระทบต่อเนื่องจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ
 
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจาก Specific tariffs ที่เพิ่งประกาศอย่างเร่งด่วน ด้วยการประเมินความเสี่ยงในกลุ่มสินค้าที่เสี่ยงสูง มีการพิจารณาโครงสร้างต้นทุนของชิ้นส่วนในการผลิตที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบและบริหารต้นทุนเพื่อชดเชยผลกระทบจากภาษีเหล็กที่จะถูกเก็บเพิ่มขึ้น
 
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับกลยุทธ์ด้านการค้า โดยจะต้องมีการกระจายความเสี่ยงด้วยการขยายการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น อาเซียน, ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา เป็นต้น เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน จะต้องมีการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานการผลิต ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตให้มากขึ้น และมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า ทั้งการเลือกใช้วัสดุ การเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น รวมถึงจะต้องเร่งส่งเสริมการทำ R&D เพื่อเลือกใช้วัสดุทดแทนการใช้เหล็ก เช่น อะลูมิเนียมรีไซเคิล และคอมโพสิตไฟเบอร์ เป็นต้น และสิ่งที่จะขาดไม่ได้คือการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนงบประมาณด้าน R&D เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ และส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการผลิตมากขึ้น เพื่อให้ไทยพัฒนาไปสู่การเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะที่สำคัญของอาเซียน
 
โดยความท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ากำลังเผชิญอาจไม่ใช่จุดจบ แต่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เป็นแรงผลักให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวและยกระดับศักยภาพการผลิต เพื่อรับมือกับสมรภูมิการค้าโลกที่เปลี่ยนไป เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แข็งแกร่งในอนาคตต่อไป